เตือน 6 กลุ่มเสี่ยงโรคฮีทสโตรก

     /data/content/23948/cms/e_cdefgisvxz78.jpg   

          สธ. ชี้ภัยอากาศร้อนจัด เสี่ยงเกิดโรคฮีทสโตรก หรือโรคลมแดด ย้ำเตือนประชาชน 6 กลุ่มให้ระวังเป็นพิเศษ แนะงดการดื่มเหล้า ชี้หัวใจทำงานหนัก อาจเกิดภาวะช็อคและเสียชีวิตได้  

          นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สภาพอากาศที่ร้อนจัดในสัปดาห์นี้ คนไทย 6 กลุ่ม เสี่ยงป่วยโรคฮีทสโตรก หรือโรคลมแดดได้ง่าย โรคนี้ถือว่าอันตราย ถ้ามีอาการแล้วไม่รีบแก้ไขหรือรักษา มีโอกาสเสียชีวิตสูง ซึ่งจากสถิติปี 2546-2556 มีรายงานเสียชีวิต 196 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และเฉพาะปี 2556 มีรายงาน 20 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาย ทั้งนี้ขอย้ำเตือนพวกชอบดื่มสุรา ควรลดปริมาณการดื่มสุรา เพราะฤทธิ์แอลกอฮอล์ทำให้ความดันโลหิตสูง จนหัวใจทำงานหนักขึ้น อาจช็อคได้ แนะวิธีป้องกันควรดื่มน้ำมาก ๆ ผู้ที่มีโรคประจำตัวหากมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดศีรษะ ใจสั่น หน้ามืด ให้พบแพทย์ หรือโทรปรึกษา 1669  ซึ่งในสัปดาห์นี้จะมีอากาศร้อนที่สุด ในระยะแรกร่างกายจะปรับตัวโดยการส่งน้ำหรือเลือดไปเลี้ยงอวัยวะภายในที่สำคัญ เช่น สมอง ตับ และกล้ามเนื้อ เป็นต้น ผิวหนังจึงขาดเลือดและน้ำไปหล่อเลี้ยง หากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ต่อเนื่อง

          นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเป็นโรคลมแดดได้สูงกว่าคนทั่วไป มี 6 กลุ่ม  คือ  1.ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น ออกกำลังกาย 2.เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ มีประมาณ 13 ล้านคน เนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่าคนหนุ่มสาว 3.ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง  มีประมาณ 4 ล้านคน ซึ่งมีปัญหาการทำงานของหัวใจและหลอดเลือดเดิมอยู่แล้ว 4.คนอ้วน 5.ผู้ที่อดนอน โดยร่างกายของคนอ้วนและผู้ที่อดนอน จะตอบสนองต่อความร้อนที่ได้รับช้ากว่าปกติ และ 6.ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งในสภาพอากาศที่ร้อนจัดแอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้รวดเร็ว และออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็วและแรงขึ้น แรงดันในหลอดเลือดจึงสูงส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจต้องทำงานหนักเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย เลือดไปเลี้ยงที่ตับ ไตน้อยลง ทำให้ไตวาย ร่างกายอาจปรับสภาพไม่ทัน เกิดภาวะช็อคและเสียชีวิตได้

          ด้าน นพ.โสภณ  เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากอากาศร้อนมีผลกระทบต่อสุขภาพ 4 ระดับ คือ 1.ผิวหนังไหม้ 2.ตะคริวจากความร้อน (Heat cramp) เนื่องจากสูญเสียน้ำและเกลือแร่ไปกับเหงื่อมาก 3.เพลียแดด และ 4.ลมแดด เนื่องจากได้รับความร้อนมากหรือนานเกินไป ร่างกายจะร้อนจัด ทำให้สมองไม่ทำงาน ไม่สามารถควบคุมการทำงานของอวัยวะภายในได้ สูญเสียระบบการควบคุมอุณหภูมิ โดยจะมีอาการตัวร้อนจัด หมดสติ ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตลดลง ช็อค ผิวหนังแห้ง กระสับกระส่าย หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงทีจะทำให้เสียชีวิตได้

          นพ.โสภณ กล่าวถึงการช่วยเหลือผู้ที่มีอาการเป็นลมแดด ว่า ให้นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด คลายชุดชั้นในและถอดเสื้อผ้าออกให้เหลือน้อยชิ้น ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ ตัว รักแร้ ขาหนีบ หน้าผาก ร่วมกับการใช้พัดลมช่วยเป่าระบายความร้อนหรือเทน้ำเย็นราดตัว เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลง ในรายที่อาการยังไม่มากควรให้ดื่มน้ำเปล่ามากๆ ส่วนการป้องกันอันตรายจากโรคลมแดด ในช่วงที่มีอากาศร้อนขอให้ใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ไม่หนา ระบายความร้อนได้ดี  ลดกิจกรรมที่ต้องออกแรงใช้กำลังกลางแจ้ง ให้อยู่ภายในบ้านหรือร่มไม้เท่าที่จะเป็นไปได้ ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ เพื่อให้ร่างกายปรับตัวสู้กับอากาศร้อนได้ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด และอย่าทิ้งเด็ก ผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยงไว้ในรถที่จอดกลางแจ้ง ซึ่งจะเสี่ยงต่อการเป็นลมแดดสูงมาก ในผู้ที่ออกกำลังกายควรทำในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น ซึ่งอากาศไม่ร้อนมาก และให้ทำค่อยเป็นค่อยไป

 

 

          ที่มา : เว็บไซด์เดลินิวส์ออนไลน์

          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code