เตือน ‘พิษสุนัขบ้า’ ระบาดช่วงน้ำท่วม
เปลี่ยนชื่อโรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคเรบีส์เพิ่มความรู้คนไทยเพราะเกิดได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เตือนคนเลี้ยงสัตว์แปลกมีโอกาสเสี่ยงสูง ม.มหิดล จัดงานวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก 24 ก.ย.นี้ เปลี่ยนชื่อ “โรคเรบีส์” หวังเพิ่มความรู้ให้คนไทย สัตวแพทย์เผยกระแสนิยมเลี้ยงสัตว์แปลกหลายชนิดมากขึ้น แต่ไม่พาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรค มีโอกาสเสี่ยงเกิดโรคได้เหมือนหมา-แมว เตือนช่วงน้ำท่วมระวังสัตว์แพร่เชื้อกลัวน้ำ
รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า จะมีการจัดงานวันป้องกันเรบีส์ (โรคพิษสุนัขบ้า) โลก ในวันเสาร์ที่ 24 กันยายนนี้ ณ ศูนย์การเรียนรู้มหิดล ศาลายา ภายใต้สโลแกนว่า พิษสุนัขบ้ารักษาไม่หาย ป้องกันได้ พาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีน ม.มหิดลเป็นเจ้าภาพจัดงานครั้งนี้ต้องการปรับเปลี่ยนวิธีการรณรงค์รูปแบบใหม่ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สังคมไทย โดยหารือร่วมกับทางกรมควบคุมโรคและกรมปศุสัตว์แล้วมีความคิดเห็นตรงกันว่า นับจากนี้ไปจะเปลี่ยนชื่อเรียกโรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคเรบีส์ ตามเชื้อไวรัส rabies virus ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เหตุผลที่ต้องเปลี่ยนชื่อ เนื่องจากทุกวันนี้เกิดกระแสคนไทยนิยมเลี้ยงสัตว์แปลกๆ มากขึ้น เช่น หนูแกสบี้ หนูแฮมสเตอร์ ลิง ชะนี ค้างคาว กระรอก ซึ่งมีโอกาสที่จะแพร่เชื้อโรคเรบีส์ได้เช่นเดียวกับสุนัขและแมว ดังนั้นจึงต้องเริ่มรณรงค์ให้ประชาชนนำสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดไปฉีดวัคซีน เพื่อเป็นการทำลายแหล่งกักเก็บโรคให้หมดไปจากประเทศไทย
รศ.น.สพ.ปานเทพกล่าวว่า องค์การอนามัยโลกระบุว่าในแต่ละปีมีประชากรมากกว่า 55,000 คนทั่วโลกเสียชีวิตด้วยโรคเรบีส์ จากการแพร่เชื้อโดยสุนัข แมว และสัตว์เลี้ยงต่างๆ สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยมีแนวโน้มการเกิดโรคเรบีส์ลดลง ในปี 2523 มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 370 ราย ขณะที่ในปี 2547-2552 มีผู้เสียชีวิต 8-26 ราย ส่วนปี 2553 มีผู้เสียชีวิต 15 ราย ในจำนวนนี้มี 10 รายที่เสียชีวิตจากสัตว์เลี้ยงตนเอง หากรับเชื้อแล้วไม่รีบไปรักษาหรือปล่อยให้มีอาการแสดงออกมา ผู้ป่วยก็จะเสียชีวิตทุกราย ขณะนี้ยังไม่มียาใดๆ รักษาให้หายได้ แต่สามารถป้องกันได้โดยพาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีน
“คนไทยไม่ค่อยตระหนักถึงอันตรายและยังมีความเข้าใจเรื่องโรคนี้หลายประการ คือ คิดว่าโรคนี้เป็นได้เฉพาะสุนัขและแมวเท่านั้น ที่จริงแล้วสามารถติดต่อได้กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ผู้เลี้ยงสัตว์แปลกๆ ก็ต้องพาสัตว์ไปฉีดวัคซีน และมักจะคิดว่าโรคนี้จะเป็นเฉพาะช่วงหน้าร้อน แต่จริงๆ แล้วเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี” คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.มหิดล เผย
ส่วนความเสี่ยงที่จะทำให้สัตว์เกิดโรคเรบีส์ในช่วงน้ำท่วมมีโอกาสเป็นไปได้ เนื่องจากสัตว์จะอยู่อาศัยปะปนกันทั้งหนู สุนัข แมว และมีโอกาสที่จะแพร่กระจายเชื้อ เพราะมีความเครียดแล้วกัดกันแย่งอาหาร หากกัดคนก็จะได้รับเชื้อไวรัสเรบีส์ไปด้วย ต้องรีบพบแพทย์เพื่อรักษาทันที สำหรับกิจกรรมในวันที่ 24 กันยายนนี้ มีจัดเสวนาหัวข้อ “ทำอย่างนี้ เรบีส์หมด” นิทรรศการความรู้เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า บริการตรวจสุขภาพสัตว์เลี้ยงเบื้องต้น และฉีดวัคซีนให้แก่สัตว์เลี้ยงฟรีตลอดงาน สนใจสอบถามเพิ่มเติม โทร.0-2441-5245-6
รศ.สพญ.อัจฉริยา ไศละสูต นายกสมาคมสัตวแพทยศาสตร์ กล่าวว่า ในช่วงน้ำท่วมขอเตือนให้ประชาชนระวังโรคฉี่หนู โดยเฉพาะในบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง ไม่มีการระบายน้ำ สัตว์ที่เป็นตัวนำเชื้อโรคไม่ได้มีเฉพาะหนูเท่านั้น แต่ยังสามารถติดต่อกับสุนัข แมว หมู วัว ควาย ซึ่งจะมีผลให้ไตอักเสบ หากสัตว์ต่างๆ เหล่านี้ฉี่ลงน้ำแล้วคนสัมผัสในบริเวณที่มีแผล ก็จะทำให้ป่วยเป็นโรคฉี่หนูได้ ถ้าหากสถานการณ์น้ำท่วมเกิดขึ้นยาวนานก็จะยิ่งทำให้ความเสี่ยงมีผู้ป่วยโรคฉี่หนูเพิ่มมากขึ้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์