เตือน ถ่ายภาพ-คลิป ลูก เปิดช่องคนอื่นเข้าถึงข้อมูล
ที่มา : เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์
แฟ้มภาพ
เตือนพ่อแม่ถ่ายภาพ – คลิปอวดความน่ารักลูก เปิดช่องคนอื่นเข้าถึงข้อมูล เป็นการละเมิดสิทธิ เพิ่มความเสี่ยงไม่ปลอดภัยในการใช้ชีวิต ผิดกฎหมายมีโทษอาญา เผยคลิปแกล้งลูกทั้งหลายเท่ากับทารุณกรรม ทำร้ายจิตใจเด็กโดยตรง
มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ร่วมกับ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัด เวทีเสวนา “สิทธิเด็ก…ในยุคมนุษย์กล้องครองเมือง” โดยมีหน่วยงานองค์กรด้านเด็กและเยาวชนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนกว่า 100 คน
นางเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กล่าวว่า สถานการณ์ถ่าย โพสต์ แชร์ คลิปเด็ก ในปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งการกระทำดังกล่าว อาจจะยังไม่รู้เท่าทันว่าเป็นการละเมิดสิทธิ หลายๆ เหตุการณ์เป็นภาพความรุนแรง สร้างความสะเทือนใจ หดหู่ ส่งผลทางจิตใจทั้งผู้รับสื่อและผู้ถูกกระทำเป็นอย่างมาก หลายเหตุการณ์เด็กถูกนำมาสร้างเป็นช่องทางเพื่อหาผลประโยชน์ ขณะที่ผู้ถ่าย โพสต์ แชร์ กลับมองเป็นเรื่องสนุกสนานขำขัน น่ารัก โดยไม่คำนึงถึงอันตรายที่จะตามมาหลังคลิปถูกเผยแพร่ออกไปและถูกแชร์จำนวนมาก ยิ่งในคลิปเปิดเผยข้อมูลของเด็ก ความเป็นส่วนตัวเด็ก ซึ่งมันจะคงอยู่ตลอดไปแม้ว่าคลิปจะถูกลบแล้วก็ตาม
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เข้าใจว่าพ่อแม่ทุกคนรักลูก อยากโชว์ความน่ารักของลูก แต่การถ่ายคลิปเด็กในอิริยาบถต่างๆ พร้อมกับระบุตัวตน แล้วนำมาโพสต์ หรือแชร์ จนคนอื่นสามารถเข้าถึงข้อมูล ถือเป็นการทำร้ายเด็ก เกิดความเสี่ยง ทำให้เด็กไม่ได้รับความปลอดภัย ขณะเดียวกัน ตัวเด็กเองก็ไม่ได้รู้สึกดีกับภาพที่ถูกโพสต์ถูกแชร์ เพราะเขาไม่มีโอกาสได้ร่วมตัดสินใจว่าจะชอบหรือไม่ชอบ เมื่อโตขึ้นจะเกิดความรู้สึกไม่ดีเมื่อได้เห็นคลิปนั้น
“แม้จะไม่มีเจตนา แต่เมื่อไหร่ที่โพสต์ หรือแชร์ภาพออกไป คิดแค่เพียงอยากแกล้งเด็ก ถ่ายเล่นสนุกสนาน มันจะกลายเป็นดาบสองคมที่ทำร้ายเด็ก เพิ่มความเสี่ยงในการใช้ชีวิต อีกทั้งเด็กจะไม่รู้ถึงการปกป้องตัวเอง จนมองเป็นเรื่องปกติแล้วเกิดการโพสต์ตาม ดังนั้น ทุกอย่างควรมีขอบเขต ระมัดระวังในการใช้เทคโนโลยี ซึ่งในต่างประเทศเขาจะเข้มงวดการปกป้องสิทธิเด็กอย่างมาก และพ่อแม่ก็ไม่ยอมหากมีคนมาถ่ายคลิปโดยที่ไม่ได้รับอนุญาต มีสิทธิเอาผิดตามกฎหมายได้” พญ.พรรณพิมล กล่าว
นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ประธานมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก กล่าวว่า จากการเผยแพร่คลิปเด็ก เช่น พ่อแกล้งกินแมลงยั่วยวนให้เด็กขยะแขยง จนเด็กอาเจียนออกมา หรือคลิปที่แม่แกล้งเอาตะปูเสียบนิ้วตัวเองดึงเข้าดึงออก เพื่อพิสูจน์ว่าลูกจะเป็นห่วงตัวเองหรือไม่ คลิปครูให้นักเรียนกราบหน้าเสาธง ฯลฯ พฤติกรรมลักษณะนี้ถือเป็นการทารุณกรรมเด็กโดยตรง ทำร้ายจิตใจเด็กทำให้เกิดความกลัว ยิ่งการนำคลิปออกมาเผยแพร่ยิ่งเป็นการกระทำซ้ำ เป็นการตอกย้ำประทับตราบาปให้เด็กในทางกฎหมายมีความผิดตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และหากนำหลักตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กมาบัญญัติไว้ในกฎหมาย เช่น มาตรา 22 การคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก มาตรา 23 บัญญัติถึงบทบาทของผู้ดูแลเด็กในการพัฒนาและการปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ มาตรา 26 ที่บัญญัติถึงการห้ามมิให้บุคคลต่างๆ กระทำต่อเด็ก ทั้งการทำร้ายร่างกาย การไม่ดูแลจนเด็กมีความประพฤติไม่เหมาะสม ฝ่าฝืนถือเป็นความผิดที่มีโทษ เช่นเดียวกับมาตรา 27 ที่มีโทษทางอาญา หากเปิดเผยหรือเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเด็กจนส่งผลกระทบต่อเด็กทั้งนี้ยังมีความผิดตามกฎหมายพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ อีกด้วย
“พ่อแม่ไม่ควรมองการโพสต์การแชร์เป็นเรื่องขำขัน สนุกสนาน แต่ความคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน มีทักษะในการเลี้ยงดูลูก แคร์ความรู้สึกลูก อย่าเห็นแก่ตัว อย่าเอาแต่ประโยชน์จนสร้างความเดือดร้อนให้ลูกซึ่งกฎหมายไม่ได้มีช่องโหว่ เพียงแต่ขาดการนำไปปฏิบัติ ที่สำคัญ รัฐบาลยังขาดกลไกที่มีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมาทำได้เพียงดูแลเด็กก่อนคลอดและหลังคลอด แต่ยังไร้ระบบส่งต่อ ไม่มีกลไกหรือตัวบุคคลที่ดูแลรับผิดชอบอย่างชัดเจน อีกทั้งบุคลากรยังขาดการพัฒนาให้มีคุณภาพ ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานรับผิดชอบหลักจะดำเนินงานไปในทางที่ควรจะเป็น ส่วนมาตรการทางสังคมทุกคนต้องไม่ละเมิดสิทธิ ขณะที่เด็กเองต้องได้รับการ พัฒนาทักษะ เสริมกิจกรรม เกิดการเรียนรู้ที่สมวัย” นายสรรพสิทธิ์ กล่าว