เตือนเกษตรกรลุยน้ำระวังโรคฉี่หนู
อธิบดีกรมควบคุมโรค เตือนเกษตรกรลุยน้ำระวังโรคฉี่หนู เผยมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แนะควรเลี่ยงการเดินลุยน้ำเป็นเวลานาน และใส่รองเท้าบู๊ท พร้อมเร่งให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรค
นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงเข้าสู่ฤดูฝนและช่วงเริ่มต้นฤดูการทำนาของเกษตรกร โรคที่ควรเฝ้าระวังคือ โรคเลปโตสไปโรซิส(Leptospirosis) หรือ โรคฉี่หนู จากข้อมูลเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม- 24 พฤษภาคม 2558 พบผู้ป่วยโรคฉี่หนูแล้ว 378 ราย ในพื้นที่ 48 จังหวัด เสียชีวิต 5 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ อายุ 55-64 ปี (ร้อยละ 20.37) รองลงมา 45-54 ปี และ 35-44 ปี ตามลำดับ อาชีพส่วนใหญ่เป็นเกษตร ร้อยละ 52.1 และรับจ้าง ร้อยละ 22.8 ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ระนอง นครศรีธรรมราช ศรีสะเกษ น่าน และอุบลราชธานี
นอกจากนี้ การเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค ยังพบว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยโรคฉี่หนู 6 ราย ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ 3 ราย, สุรินทร์ สุโขทัย และสงขลา จังหวัดละ 1 ราย และพบผู้ป่วยสงสัย 82 ราย ที่จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งก่อนป่วยทั้งหมด มีประวัติไปขุดลอกคูคลอง จึงคาดว่าจะมีแนวโน้ม พบผู้ป่วยโรคฉี่หนูเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน เป็นต้นไป
กรมควบคุมโรค ได้สั่งการให้สำนักงาน ป้องกันควบคุมโรคที่ 1-12 ประสานการดำเนินงาน กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง และ อสม. เพื่อเร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรค และการดูแลเมื่อมีอาการป่วย เพื่อป้องกันการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด โดยโรคนี้รักษาให้หายขาดได้ แต่อาจติดเชื้อและป่วยซ้ำได้ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากสัตว์ที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยในคน โดยเชื้อจะอยู่ในฉี่ของสัตว์ โดยเฉพาะหนู ทั้งหนูนา หนูป่า หนูบ้าน หนูท่อ รวมทั้งสัตว์อื่นๆ เช่น สุนัข แมว โค แพะ แกะ เชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายโดยไชเข้าทางผิวหนังตามรอยแผล รอยขีดข่วน เยื่อบุของตา จมูก ปาก หรือผิวหนังปกติที่แช่น้ำเป็นเวลานาน และอาจติดเชื้อตรงจากการสัมผัสเชื้อและกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่
การป้องกันโรคไข้ฉี่หนู มีคำแนะนำดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนที่ชื้นแฉะ และไม่ควร แช่น้ำเกิน 4-6 ชั่วโมง 2.ผู้ที่ต้องทำงานที่เสี่ยง ต่อโรค ไม่ควรลงแช่น้ำขณะมีบาดแผล หากจำเป็น ควรปิดบาดแผลให้มิดชิด และสวมถุงมือยาง ใส่รองเท้าบู๊ท 3.รีบล้างตัวทำความสะอาดทันทีเมื่อขึ้นจากแหล่งน้ำหากสัมผัสแหล่งน้ำแล้ว 4.กำจัดขยะใน บ้านเรือน ที่ทำงาน ให้สะอาด โดยเฉพาะเศษอาหาร เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต