เตือนอาหารวันเด็ก ปรุง เก็บนาน เสี่ยงบูดง่าย

กรมอนามัย ห่วงสุขภาพเด็กไทย แนะครู ผู้ปกครอง เลี้ยงอาหารวันเด็ก คำนึงถึงความสะอาด ปลอดภัย โดยเฉพาะอาหารกล่อง เลี่ยงการปรุง ประกอบเก็บไว้นาน เพราะอาจทำให้บูดได้ พร้อมแนะเพิ่มผลไม้ เช่น ส้ม กล้วย หรือชมพู่ เป็นอาหารว่าง


เตือนอาหารวันเด็ก ปรุง เก็บนาน เสี่ยงบูดง่าย thaihealth


แฟ้มภาพ


นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรมในวันเด็กจะมีการจัดเลี้ยงอาหารสำหรับเด็กที่มาร่วมงานหรือร่วมกิจกรรม โดยส่วนมากจะเป็นการเลี้ยงในมื้อกลางวันและต้องจัดเตรียมเป็นจำนวนมากจึงต้องใช้เวลาในการเตรียมอาหารดังกล่าวตั้งแต่เช้าและจัดเป็นอาหารกล่องไว้บริการหรือแจกเด็กๆ  ครู ผู้ปกครอง จึงต้องให้ความสำคัญในเรื่องความสะอาดของอาหารเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาโรคจากอาหารเป็นพิษหรือท้องเสียได้ โดยเลือกวัตถุดิบที่สะอาด ปลอดภัยจากร้านที่ได้มาตรฐาน ล้างให้สะอาดก่อนนำมาปรุง สำหรับผู้ประกอบอาหารต้องมีสุขลักษณะในการปรุงประกอบอาหารที่ถูกต้อง เช่น สวมผ้ากันเปื้อน หมวกคลุมผม ตัดเล็บสั้น ไม่ใช้มือหยิบจับอาหาร เป็นต้น การบรรจุอาหารในภาชนะต้องสะอาด ปลอดภัย ควรแยกกับข้าวใส่ถุงพลาสติกต่างหากและไม่วางข้าวกล่องที่บรรจุเสร็จแล้วตากแดดหรือวางบนพื้น ควรเขียนวันเวลาที่ผลิตไว้เพื่อความปลอดภัยในการบริโภค และสิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ การทำอาหารไว้ล่วงหน้าไม่ควรนานเกิน 4 ชั่วโมง เพราะจะทำให้อาหารบูดเสียได้


นายแพทย์ธงชัย กล่าวต่อไปว่า อาหารกล่องเพื่อแจกเด็ก ๆ ควรเป็นอาหารที่ไม่บูดเสียง่าย รับประทานได้ง่าย เช่น ข้าวเหนียวหมูทอด ข้าวเหนียวไก่ทอด นอกจากนั้นควรเพิ่มผลไม้ เช่น ส้ม กล้วย หรือชมพู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่เสี่ยงก่อให้เกิดโรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ ได้แก่ ข้าวมันไก่ ข้าวผัดปู อาหารประเภทยำหรืออาหารที่ปรุง  โดยไม่ผ่านความร้อนหรือปรุงแบบสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ ขนมแอแคร์ เป็นต้น สำหรับคุณครู หรือผู้ปกครอง ที่นำเด็กไปเที่ยวงานวันเด็ก เมื่อได้รับแจกข้าวกล่องมาก่อนที่จะให้เด็ก ๆ รับประทาน ควรสังเกตหรือกำชับให้เด็กรู้จักสังเกตว่าอาหารนั้นมีกลิ่นผิดปกติหรือบูดเสียหรือไม่ หากพบว่าอาหารบูดเสียไม่ควรรับประทานและแจ้งให้แก่ผู้จัดงานทราบเพื่อที่จะสามารถเตือนผู้อื่นให้ระมัดระวังอาหารดังกล่าว


"ทั้งนี้ ก่อนรับประทานอาหารควรล้างมือให้สะอาด และต้องระมัดระวังเรื่องน้ำแข็งที่นำมาใส่น้ำดื่มหรือน้ำหวานไว้บริการเด็กๆนั้น ควรเป็นน้ำแข็งที่ได้มาตรฐานสำหรับการบริโภคเท่านั้น หากไม่แน่ใจว่าน้ำแข็งนั้นจะสะอาดหรือเปล่าควรหลีกเลี่ยงและให้บริการน้ำดื่มบรรจุขวดแช่เย็นจะดีกว่า นอกจากจะสะอาดปลอดภัยแล้วยังช่วยลดปริมาณน้ำตาลที่เด็กจะได้รับในแต่ละวันลงด้วยเพื่อสร้างสุขนิสัยที่ดีในการบริโภคอาหารของเด็กให้ถูกหลักโภชนาการ” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด


 


 


ที่มา : เว็บไซต์กรมอนามัย


 


 

Shares:
QR Code :
QR Code