เตือนอันตรายถึงตาย สูดดมแก๊สกระป๋อง

ที่มา :www.bangkokbiznews.com


เตือนอันตรายถึงตาย สูดดมแก๊สกระป๋อง thaihealth


แฟ้มภาพ


ป.ป.ส. เตือนอันตรายจากการสูดดมแก๊สกระป๋อง ถึงขั้นชัก หมดสติ จนเสียชีวิตได้


จากกรณีที่สื่อมวลชนได้เผยแพร่ข่าว เยาวชนในจังหวัดนครราชสีมา ได้นำก๊าซเชื้อเพลิงบรรจุกระป๋องมาเสพ จนเป็นเหตุให้เสียชีวิต 1 ราย และอีกรายเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา


นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีนี้ พบว่าเยาวชนทั้งสองเรียนรู้การเสพ โดยสูดดมก๊าซดังกล่าวนี้ จากเพื่อนรุ่นพี่เมื่อครั้งอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งก่อนที่จะเสียชีวิตจากการสูดดมก๊าซครั้งนี้ ทั้งสองได้เสพก๊าซมาแล้วประมาณ 2 เดือน เพื่อให้เกิดความรู้สึกเคลิบเคลิ้ม และมีอาการเมา


เจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างก๊าซเชื้อเพลิงที่เยาวชนนำมาเสพ พบว่า เป็นก๊าซเชื้อเพลิงบรรจุกระป๋องมีไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในการหุงต้มใช้กับเตาแก๊สสนามแบบพกพา มีส่วนประกอบของโพรเพน (Propane) และบิวเทน (Butane) ซึ่งมีลักษณะเป็นก๊าซไม่มีสีและไม่มีกลิ่น ภายใต้ความดันสูงจะเป็นของเหลวใส ไอที่เย็นจะเห็นเป็นหมอกหรือควันสีขาว ก่อนนำมาใช้ประโยชน์จะมีการเติมกลิ่น เพื่อให้สามารถสังเกตและป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดการรั่วจากภาชนะบรรจุ


โดยอันตรายจากการเสพหรือนำก๊าซที่มีสารผสมระหว่างโพรเพนและบิวเทน เมื่อสูดดมเข้าสู่ร่างกายจะออกฤทธิ์กดระบบประสาท เกิดอาการมึนงง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ หากสะสมในร่างกายจนมีความเข้มข้นสูงจะทำให้ออกซิเจนในปอดลดลง ส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนในเลือดและเนื้อเยื่อต่างๆ ลดลง ทำให้เกิดอาการหายใจสั้น หัวใจเต้นเร็ว มึนงง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ทรงตัวไม่อยู่ เนื่องจากเมื่อก๊าซผ่านจากปอดเข้าสู่กระแสเลือดจะไปสะสมในปริมาณสูงที่อวัยวะที่มีไขมันสูงคือ สมอง รวมถึงพบการสะสมที่ตับ หัวใจ ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ และมีภาวะขาดออกซิเจน ซึ่งหากขาดออกซิเจนนานอาจทำให้เกิดอาการชัก หมดสติ เกิดภาวะขาดออกซิเจนเฉียบพลัน จนเสียชีวิตได้


นายนิยม กล่าวว่า สำนักงาน ป.ป.ส. ตระหนักถึงวิถีชีวิตในสังคมปัจจุบันที่เด็กและเยาวชนจะได้รับข้อมูลต่างๆ ทางสื่อออนไลน์หรือกลุ่มเพื่อน เกิดการเลียนแบบพฤติกรรมบางอย่างที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่เด็กและเยาวชน จึงขอให้ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ หรือผู้ใกล้ชิดกับเด็กและเยาวชนให้คำแนะนำและเฝ้าระวังการเข้าถึงสื่อ ให้ความรู้ความเข้าใจถึงโทษพิษภัยจากการใช้ยาเสพติด รวมถึงการใช้ยาและสารต่างๆ ในทางที่ผิด หรือหมั่นสังเกต และตักเตือนหากพบพฤติกรรมที่จะนำไปสู่อันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำคัญที่สุด คือ ผู้ปกครอง ครอบครัว ต้องดูแล เอาใจใส่ให้เวลาพบปะพูดคุย และทำกิจกรรมร่วมกัน ในครอบครัว เพื่อให้ทราบถึงปัญหาและให้คำปรึกษากับเด็กได้ เพื่อความปลอดภัยของเด็กและเยาวชน และป้องกันการรู้เท่าไม่ถึงการณ์จนเกิดการสูญเสียเช่นกรณีดังกล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code