เตือนอันตรายจากโรคภัยช่วงหน้าหนาว

         ช่วงเปลี่ยนแปลงสู่หน้าหนาว ทำให้อากาศเย็นและชื้น เชื้อโรคสามารถแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ระวังกลุ่มโรคติดเชื้อและภัยสุขภาพ แนะควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และทำให้ร่างกายอบอุ่นเสมอ


/data/content/26113/cms/e_cfhikltvxz49.jpg


         น.พ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้ปลายฤดูฝน ต้นฤดูหนาว สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง มีอากาศหนาวเย็นและหมอกหนาปกคลุมในหลายพื้นที่ สภาพอากาศที่เย็นและชื้นจะทำให้เชื้อโรคมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้น แพร่กระจายได้ง่ายและเร็ว ทางกรมควบคุมโรคจึงได้ออกประกาศ เรื่อง การป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่เกิดในฤดูหนาวของประเทศไทย พ.ศ.2557 โดยโรคที่มีแนวโน้มจะระบาดในฤดูหนาวและกระทบต่อสุขภาพประชาชนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มดังนี้ 1.โรคติดเชื้อ ได้แก่ โรคไข้หวัด โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคหัด โรคสุกใส โรคมือ เท้า ปาก และโรคอุจจาระร่วงในเด็กเล็ก 2.ภัยสุขภาพ เช่น อันตรายจากการดื่มสุราแก้หนาว อันตรายจากการท่องเที่ยวในฤดูหนาว โดยในเดือนธันวาคมของปี 2556 ที่ผ่านมา สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้รับรายงานผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว ระหว่างวันที่ 22 ต.ค.26-9 ก.พ.57 รวมทั้งสิ้น 82 ราย ในที่นี้ยืนยันเสียชีวิตจากอากาศหนาวเย็น (Hypothermia) จำนวน 2 ราย ในจังหวัดเลย และอุบลราชธานี ขณะที่สาเหตุการเสียชีวิตเนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงเสริมร่วมกับภาวะอากาศหนาวจำนวน 65 ราย โดยมีปัจจัยเสี่ยงเสริมที่สำคัญ คือ การดื่มสุราและสวมเครื่องนุ่งห่มไม่เพียงพอ รวมทั้งกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ลมชัก รวมทั้งคนพิการและผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย เป็นต้น


        น.พ.โสภณ กล่าวต่อว่า ประชาชนควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงและทำร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ สวมใส่เสื้อผ้าหนาๆ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้และหอบหืดไม่ควรก่อไฟผิง เพราะควันไฟจะระคายเคืองระบบทางเดินลมหายใจทำให้อาการรุนแรงขึ้น ไม่ดื่มสุราแก้หนาว เพราะนอกจากจะไม่ช่วยสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกายแล้ว ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้ร่างกายสูญเสียความร้อน และกดประสาท ทำให้ง่วงซึมและหมดสติโดยไม่รู้ตัว หากมีโรคประจำตัวจะทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้


 


 


       ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง 


       ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


 

Shares:
QR Code :
QR Code