เตือนอย่าหลงเชื่อโฆษณาอาหารเสริม

อย.เตือนอย่าหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโฆษณาเกินจริง หลังพบผู้บริโภคบางรายได้รับอันตรายจากผลข้างเคียง

นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่าตามที่ อย. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสูตินารีแพทย์ โรงพยาบาลหลังสวน จังหวัดชุมพร ว่ามีผู้ป่วยอาการเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด  ซึ่งผู้ป่วยแจ้งว่าได้บริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อหนึ่ง

ดังนั้น เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคตามนโยบาย นาย วิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อย.ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงทันที ซึ่งพบว่ามีการโฆษณาอาหารเสริมดังกล่าวทางคลื่นวิทยุชุมชน และคำแนะนำจากผู้ที่เคยใช้

ทั้งนี้ได้สัมภาษณ์ผู้ป่วยและเก็บตัวอย่างจากแหล่งจำหน่ายในจังหวัดชุมพร เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์หาสารที่เป็นอันตราย รวมทั้งจะพิจารณาในเรื่องการระงับโฆษณา และขยายผลตรวจสอบสถานที่ผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าวต่อไป

เลขาธิการ อย. กล่าวด้วยว่า อย. ยังเคยได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคให้ตรวจสอบโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวที่โฆษณาอวดสรรพคุณเกินจริงทางวิทยุชุมชน แผ่นพับ และเว็บไซต์ โดยเกรงว่าจะมีการหลอกลวงประชาชน เพราะมีข้อความโฆษณาสรรพคุณป้องกันโรคต่าง ๆ ซึ่ง อย. ได้ตรวจสอบทันที พบว่า มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทางแผ่นพับ วิทยุ และเว็บไซต์ดังกล่าวจริง

ทั้งนี้ มีการระบุข้อความโฆษณา เช่น “…ผิวสวย หน้าใส ภายในกระชับ ช่วยให้ผนังเส้นเลือดโดยเฉพาะเส้นเลือดดำ (veins) มีความแข็งแรงเพิ่มขึ้น ต่อต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ป้องกันเบาหวาน ช่วยให้น้ำหนักลดลง ป้องกันความผิดปกติของผิวหนัง ป้องกันโรคพาร์กินสันและอัลไซเมอร์เป็นต้น

นพ.พิพัฒน์ กล่าวว่า อย. ได้ตรวจสอบข้อความโฆษณาดังกล่าว ปรากฏว่า ไม่ได้รับอนุญาตโฆษณาจาก อย. แต่อย่างใด ดังนั้น ถือว่า มีความผิดตามกฎหมายในข้อหาโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท โดยได้ดำเนินคดีกับบริษัทผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ซึ่งรับว่า เป็นผู้จัดทำข้อความโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณ พร้อมทั้งมีหนังสือ ไปยังบริษัทฯ เพื่อระงับการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวในทุกสื่อแล้ว

“ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ใช่ยารักษาโรค ไม่ได้ช่วยลดน้ำหนัก ไม่ได้ช่วยเสริมเรื่องทางเพศ ขอให้ผู้บริโภคใช้วิจารณญาณพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่สำคัญ อย่าได้หลงเชื่อสรรพคุณว่าสามารถป้องกันหรือรักษาโรค นอกจากเสียเงินโดยไม่จำเป็นแล้ว หากท่านมีโรคประจำตัว อาจได้รับผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกายโดยคาดไม่ถึงได้”

เลขาธิการ อย. ยังได้ขอให้ผู้ประกอบการทุกราย เห็นแก่ความปลอดภัยของผู้บริโภค ดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรมและจริยธรรม อย่าโฆษณาด้วยวิธีต่าง ๆ ในลักษณะที่เกินเลยความเป็นจริง มิฉะนั้น อย. จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวดและเด็ดขาด

ทั้งนี้ หาก ผู้บริโภคพบเห็นการอวดอ้างสรรพคุณผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเกินจริงผ่านทางสื่อต่าง ๆ หรือโฆษณาหลอกลวงให้ผู้บริโภคหลงเชื่อโดยการขายตรง ขอให้แจ้งร้องเรียนมายังสายด่วน อย. 1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อทางราชการจะได้ตรวจสอบ และดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code