เตือนสูงวัยกินยามีผลข้างเคียง หมอแนะวิธีลดเสี่ยง

ที่มา: ข่าวสด


เตือนสูงวัยกินยามีผลข้างเคียง หมอแนะวิธีลดเสี่ยง thaihealth


แฟ้มภาพ


การเปลี่ยนแปลงของร่างกายในผู้สูงอายุมีผลต่อการใช้ยา ทำให้การดูดซึมยาลดลง การกระจายตัวของยาไม่ค่อยดี


          นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า แพทย์ที่ดูแลผู้สูงอายุมีความจำเป็นที่จะต้องรู้หลักการและปัญหาเกี่ยวกับการใช้ยาในผู้สูงอายุ ตลอดจนการสั่งยา อย่างเหมาะสม เนื่องจากผู้สูงอายุมีโรคร่วมหลายอย่างและมีโอกาสได้รับยาหลายชนิด โดยเฉลี่ยผู้สูงอายุ 1 คนจะมียาตามแพทย์สั่ง 4-5 ชนิด และอาจมี 2 ชนิดจากการซื้อยามา รับประทานเอง


          นพ.ประพันธ์ พงศ์คณิตานนท์ ผอ.สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของร่างกายในผู้สูงอายุมีผลต่อการใช้ยา ทำให้การดูดซึมยาลดลง การกระจายตัวของยาไม่ค่อยดี นอกจากนี้ อาจพบปริมาณยาที่ค้างในร่างกาย และพบว่าการกำจัดยาทางไตทำได้ลดลง ผู้สูงอายุยังมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอีกหลายอย่างที่ส่งผลต่อการใช้ยา เช่น มีความไวต่อยาบางชนิดเพิ่มขึ้น ในขณะที่มีความไวต่อยาบางชนิดลดลง สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหากับการสั่งยาในผู้สูงอายุอย่างมาก


          นพ.ประพันธ์กล่าวต่อว่า ผู้สูงอายุสามารถป้องกันการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา ด้วยการปฏิบัติ ดังนี้ 1.เมื่อพบแพทย์ ควรมีรายละเอียดของชื่อยาที่รับประทาน ชื่อโรค และประวัติการแพ้ยาติดตัวไปด้วย 2.เริ่มต้นการรักษาแบบไม่ใช้ยา เช่น ท้องผูกควรดื่มน้ำมากๆ และรับประทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูง 3.รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอและติดตามการรักษากับแพทย์เป็นระยะ อย่านำตัวอย่างยาเดิมไปซื้อมารับประทานเอง 4.นำยาทั้งหมดไม่ว่าจะได้รับจากที่ใดไปให้แพทย์ตรวจเช็กเป็นระยะ


          5.หลีกเลี่ยงการซื้อยาสมุนไพร ยาหม้อ และยาลูกกลอนมารับประทานเอง เนื่องจากอาจมีผลเสียต่อร่างกาย 6.ควรตรวจดูวันหมดอายุของยา และอย่าเก็บยาที่เหลือไว้รับประทานครั้งต่อไปเนื่องจากยาอาจหมดอายุหรืออาจไม่ใช้ยาตัวเดิม 7.ควรปรึกษาแพทย์ถึงสาเหตุที่จะหยุดยา เช่น เกิดผลข้างเคียง ยาไม่ได้ผล วิธีการใช้ยาซับซ้อนเกินไป ยาแพงเกินไป 8.รับการรักษาและติดตามกับแพทย์คนเดิม หากต้องรักษากับแพทย์มากกว่า 1 คนต้องนำประวัติเก่าและรายการยาที่ใช้อยู่มาแจ้งให้แพทย์ทราบ แพทย์ที่รักษาผู้สูงอายุต้องตรวจสอบยาทั้งหมดที่ผู้สูงอายุได้รับทุกแหล่ง และพิจารณายาที่อาจมีปฏิกิริยาต่อกัน


 


 

Shares:
QR Code :
QR Code