เตือนสตรี-ทารก เสี่ยงเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เตือน สตรีและทารกแรกเกิดระวังเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส อะกาแล็กเดีย หรือสเตรปโตคอคคัส กรุ๊ปบี เสี่ยงเกิดภาวะโลหิตเป็นพิษ ปอดอักเสบ พบเฝ้าระวัง 10 ปี มีการติดเชื้อชนิดนี้เพิ่มขึ้น ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนรักษา แนะหมั่นล้างมือบ่อยๆ

นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยา ศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า โครงการเฝ้าระวังการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดรุกล้ำ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ รายงานว่าปี 2546 จนถึงปัจจุบันพบการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส อะกาแล็กเดีย หรือสเตรปโคคอคคัส กรุ๊ปบี ในผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตในสตรีและเด็กทารกแรกเกิด และผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคอ่อนแอ เช่น ผู้สูงอายุ และผู้ป่วย เชื้อนี้ทำให้เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษ ปอดอักเสบและเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โดยเฉพาะในทารกคลอดก่อนกำหนดได้ จากรายงานของศูนย์วินิจฉัยและชันสูตรโรคสัตว์ภาคใต้ระบุว่า ในปี 2529 มีรายงานการติดเชื้อนี้มาจากวัวนมสู่คนดูแลวัว โดยพบเชื้อร้อยละ 84.6 ในน้ำนมของวัว ซึ่งเป็นสายพันธุ์เดียวกับที่พบในลำคอและทางเดินปัสสาวะของคนดูแลวัว และในปี 2524 การศึกษาแบบย้อนหลังของทางคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รายงานพบผู้ป่วยติดเชื้อตั้งแต่ปี 2549-2552 จำนวน 82 ราย พบมีภาวะโลหิตเป็นพิษ 40 ราย และ 52 ราย มีภาวะโรคเรื้อรังมาก่อน

สำหรับอุบัติการณ์ของโรค ในสหรัฐอเมริกาพบว่า ในทารกแรกเกิด 1,000 ราย มีโอกาสติดเชื้อและเกิดภาวะโลหิตเป็นพิษจากเชื้อชนิดนี้ 1.8-3.2 ราย ขณะที่คนทั่วไปเสี่ยงติดเชื้อประมาณ 4.4 รายต่อประชากร 1 แสนคน โดยเฉพาะผู้สูงอายุมีโอกาสเสี่ยงมากขึ้น 4 เท่า

นพ.นิพนธ์ กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าว แพทย์จะวินิจฉัยโรคนี้จากการตรวจพบเชื้อในอวัยวะที่ติดเชื้อในเลือดหรือน้ำไขสันหลังของคนไข้ และรักษาได้ด้วยยาเพนนิซิลิน ดังนั้น วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงการไอ-จามรดใส่กัน การสัมผัสถูกบาดแผล ฝี พุพอง ตุ่มหนอง อย่าใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้อื่น ล้างมือด้วยน้ำสบู่บ่อยๆ โดยเฉพาะหลังขับถ่าย ก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง ที่สัมผัสถูกพื้นสกปรก

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ 

Shares:
QR Code :
QR Code