เตือนระวังโรคติดพนันบอล

กรมสุขภาพจิต เผยโรคติดการพนัน เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง โดยเกิดจาก 4 สาเหตุสำคัญคือ พันธุกรรม สังคม สิ่งแวดล้อม  สิ่งยั่วยุต่างๆ และระบบสารเคมีในสมองผิดปกติ

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า โรคติดการพนัน (pathological gambling) เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยจะไม่สามารถต่อต้านแรงกระตุ้นหรือความอยากของตนเอง จะหมกมุ่นเหมือนกับผู้ป่วยย้ำคิดย้ำทำ ผู้ป่วยติดสุราหรือสารเสพติด 

สาเหตุสำคัญของโรคติดการพนัน มี 4 ประการ คือ 1.พันธุกรรม จากการศึกษา พบว่า ผู้ป่วย ที่ติดการพนันมักมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมร่วมด้วย 2.สังคม สิ่งแวดล้อม ผู้ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้เล่น การพนัน เช่น บ้านเป็นบ่อนการพนันหรืออยู่ในย่านชุมชน เพื่อนบ้าน หรือ เพื่อนฝูง เล่นการพนัน 3.สิ่งยั่วยุต่างๆ ทั้งจากสื่อมวลชน เช่น หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ นิตยสารเฉพาะกลุ่มกีฬาและ มีการวิเคราะห์พฤติกรรมหรือเกมการเล่นของแต่ละทีม พร้อมทั้งอาจมีการทำนาย แนวโน้มผลการแข่งขันมีส่วนยั่วยุให้คนที่ มีแนวโน้มจะเล่นการพนันอยู่แล้วถูกกระตุ้นให้เล่นการพนัน และ 4.ระบบสารเคมีในสมองผิดปกติ คือ เกิดการหลั่งสารโดปามีนในสมองมาก ซึ่งเป็นสารที่ทำให้บุคคลรู้สึกตื่นเต้น เป็นสุข สนุกสนาน ขณะที่สารสื่อประสาทสมอง ชื่อ ซีโรโทนินลดลง ซึ่งเป็นสารที่ช่วยให้บุคคลมีความยับยั้งชั่งใจ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนติดการพนัน

สำหรับสัญญาณการพนันที่เป็นปัญหา ได้แก่ การเล่นนานกว่าที่ตั้งใจ พนันแบบทุ่มสุดตัวแล้วพยายามเอาคืน โกหก คนในบ้านเกี่ยวกับจำนวนเงินที่เล่น ขาดงาน ขาดการเรียน หรือไปสาย ไม่ทำตามสัญญาที่ให้กับครอบครัว ไม่สนใจด้านอื่นของชีวิตคิดถึงแต่การพนันที่หวังว่าจะได้คืน

แนวทางการช่วยเหลือเพื่อแก้ปัญหาการพนันจะเริ่มจากการช่วยกันทบทวนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการพนัน เพราะผู้เล่นอาจพอรู้ว่าตัวเองมีปัญหา แต่ไม่เคยหันมามองปัญหาของตัวเองให้ชัดเจน เมื่อมองปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว จึงจะร่วมกันสร้างแรงจูงใจในการหยุดเล่น ซึ่งมีหลักการในแนวทางเดียวกันกับการรักษา พฤติกรรมเสพติดอื่นๆ คือ การฝึกตั้ง เป้าหมายที่ดี การจัดการสิ่งแวดล้อม การฝึกวิธี ควบคุมตนเอง การจัดการอารมณ์และความเครียด การมีคนเป็นกำลังใจ ตลอดจนการรู้วิธีให้รางวัลตนเองเมื่อทำได้ ทั้งนี้ โรคติดพนันสามารถรักษาให้หายได้ ด้วยการทำพฤติกรรมบำบัดและการรักษาด้วยยา สามารถขอรับบริการปรึกษาได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

Shares:
QR Code :
QR Code