เตือนระวัง”เชื้อหวัด09″หลบในคอ

ไม่แสดงอาการ นานถึง2สัปดาห์ หวั่นลามหนักระบาดรอบ2 ย้ำใส่หน้ากาก

 เตือนระวัง”เชื้อหวัด09″หลบในคอ

หมอประเสริฐ”ชี้เชื้อ”หวัด09″ ยังอยู่ในคอและเสมหะอีก 1-2 สัปดาห์ แม้จะหายป่วย เน้นมาตรการใส่หน้ากากลดการระบาดระลอก 2 สธ. ชี้ ขณะนี้ในคนไทยทุก ๆ 1 แสนคน จะป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ 2009 ได้ 38 คน ย้ำอย่าชะล่าใจ

 

เมื่อวันที่ 28 กันยายน ที่โรงแรมอมารีดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพมหานคร ในการอบรมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขผู้รับผิดชอบงานด้านโรคติดต่อที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน สำนักงานควบคุมป้องกันโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดใน 16 จังหวัดภาคกลาง รวมทั้งสำนักอนามัย และสำนักการแพทย์สังกัด กทม. จำนวน 400 คน เพื่อพัฒนาศักยภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009 เพื่อลดการเสียชีวิตให้น้อยที่สุด

 

ศ.นพ.เกียรติคุณ ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาโรคไข้หวัดใหญ่ กล่าวว่า การระบาดระลอก 2 อาจจะกลับมาในช่วงฤดูหนาวเช่นเดียวกับในสถานการณ์การระบาดของต่างประเทศ ซึ่งสถานการณ์จะรุนแรงหรือไม่น้น ขึ้นอยู่กับเชื้อจะกลายพันธุ์หรือไม่ เพราะหากเชื้อกลายพันธุ์ความรุนแรงก็จะมีมาก แต่หากเชื้อยังเป็นตัวเดิมเหมือนการระบาดระลอกแรก สถานการณ์จะไม่รุนแรงมาก เพราะมีผู้ติดเชื้อไปส่วนหนึ่งทำให้มีภูมิคุ้มกันบ้างแล้ว  ซึ่งสิ่งที่ต้องเน้นย้ำประชาชนคือเรื่องการป้องกันตนเองด้วยการใส่หน้ากากเมื่อไม่สบาย ไอ จาม

 

สาเหตุที่ต้องเน้นเรื่องการใส่หน้ากากเพราะพบข้อมูลว่า เชื้อไวรัสจะยังอยู่ในลำคอผู้ป่วยเป็นเวลา 5-6 วัน หลังจากไม่มีอาการ และบางรายพบว่า มีเชื้ออยู่ในลำคอเป็นเวลาถึง 16 วัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยังสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ หากไม่มีมาตรการป้องกันใดๆ ก็จะทำให้เชื้อสามารถแพร่ระบาดได้ในวงกว้างได้  เมื่อมีข้อมูลชี้ชัดว่า เชื้อยังอยู่ในลำคอ แม้ว่าผู้ป่วยจะมีอาการปกติขึ้น การวินิจฉัยโรคแพทย์อาจจะวินิฉัยให้ผู้ป่วยหยุดต่อได้อีก 7 วันเป็นอย่างน้อยเพื่อลดการระบาดของโรคศ.นพ.เกียรติคุณ ประเสริฐ กล่าว

 

ศ.นพ.เกียรติคุณ ประเสริฐ กล่าวว่า สำหรับการสำรวจอัตราการดื้อยาพบว่า ขณะนี้มีเชื้อจำนวน 26 สายพันธุ์ที่มีการดื้อยา โดย 24 สายพันธุ์เป็นเชื้อที่ในต่างประเทศ และมีจำนวน 2 สายพันธุ์ที่อยู่ในแถบเอเชีย เช่น สิงค์โปร์ ญี่ปุ่น และไทย  ซึ่งผู้ป่วยที่มีการดื้อยาในประเทศไทยที่พบ จากการติดตามพบว่า ไม่มีการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นและผู้ป่วยสามารถรักษาได้หายเป็นปกติ

 

สถานการณ์ล่าสุด องค์การอนามัยโลกคาดการณ์เมื่อ 18 กันยายน 2552 ว่า มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ทั่วโลกอย่างน้อย 296,471 คน เสียชีวิตอย่างน้อย 3,486 คน มากที่สุดที่ทวีปอเมริกา 2,625 คน ในส่วนของไทยมีผู้เสียชีวิตจนถึงวันที่ 23 กันยายน 2552 ทั้งหมด 160 ราย โดยแนวโน้มการเสียชีวิตลดลง สำหรับประเทศไทย ประชากรไทยทุกหนึ่งแสนคน จะพบผู้ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ 2009 ประมาณ 38 คน

                                   

นายมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า การควบคุมป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่ผ่านมา แม้ว่าจะได้ผลเป็นที่น่าพอใจระดับหนึ่งก็ตาม แต่เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่เกิดขึ้นใหม่ในโลกและระบาดต่อเนื่องเป็นเวลา 5 เดือน เชื้อไวรัสก่อโรคยังเป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้กันใหม่อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นมาตรการรับมือการรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วย จะต้องปรับปรุงและปรับเปลี่ยนตามองค์ความรู้ใหม่ที่ได้ ซึ่งการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง จะสามารถตรวจจับการระบาดของโรคได้  และให้การดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม จะทำให้ผู้ป่วยรอดชีวิตหายเป็นปกติได้  และขอให้แต่ละจังหวัดจัดทำฐานข้อมูลกลุ่มบุคคลและพื้นที่เสี่ยงเกิดการแพร่ระบาด เพื่อเข้าไปดูแลเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด

 

 นายมานิต กล่าวว่า มาตรการ 2 ลด 3 เร่ง ยังจำเป็นต้องทำเข้มข้น เน้น 3 กลุ่มหลัก กลุ่มแรก คือ กลุ่มแพทย์  พยาบาล ในโรงพยาบาล ขอให้ติดตามดูแลให้มีการปฏิบัติตามแนวทางการรักษาพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด กลุ่มที่ 2 คือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในสถานีอนามัย ซึ่งเป็นสถานบริการด่านแรกของประชาชนในเขตชนบท ให้เร่งรัดเสริมความรู้เกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้อย่างทั่วถึง เพื่อให้สามารถคัดกรองผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง และกลุ่มที่ 3 คือ ประชาชนทั่วไป ให้เน้นย้ำมาตรการป้องกันการติดเชื้อ ล้างมือและการใช้หน้ากากอนามัยเมื่อป่วยเป็นหวัด รวมทั้งการดูแลนเองเบื้องต้น และไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็วหากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

 

Update: 28-09-52

อัพเดทเนื้อหาโดย: อัญณิกา กฤษสมัย

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code