เตือนระวังสัตว์ป่วยช่วงปลายฝนต้นหนาว
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
ปศุสัตว์เตือน ปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว ส่งผลให้สัตว์มีสุขภาพอ่อนแอและเกิดภาวะเครียด มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดในสัตว์
นายจรูญ ชูเกียรติวัฒนา ปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี เปิดเผยว่า ระยะนี้เข้าสู่ปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว ส่งผลให้สัตว์มีสุขภาพอ่อนแอและเกิดภาวะเครียด มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดในสัตว์ และจากการลงพื้นที่พบเกิดโรคปากและเท้าเปื่อยกับสัตว์ในพื้นที่ อ.เมือง และ อ.พัฒนานิคม รวมทั้งพื้นที่รอยต่อของ จ.ลพบุรี เช่นที่ อ.มวกเหล็ก อ.วังม่วง จ.สระบุรี อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ อ.ปากช่อง อ.สูงเนิน จ.นคร ราชสีมา ซึ่งปศุสัตว์ในพื้นที่ได้ควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดแล้ว แม้โรคนี้จะเป็นโรคติดต่อ สัตว์ไม่ติดคน แต่หากเกิดการระบาดของโรคในวงกว้างจะทำให้เกิดความเสียหายในทางเศรษฐกิจด้านปศุสัตว์ได้ โดยสัตว์ป่วยมักมีอาการน้ำลายไหล เกิดเม็ดตุ่มที่เยื่อ ชุ่มบริเวณปาก และ ไรกีบ ทำให้สัตว์เจ็บปาก กินอาหารไม่ได้ เดินกะเผลก กีบหลุด ซูบผอม เลี้ยงไม่โต ผลผลิตน้ำนมลดลง สามารถติดต่อได้หลายทาง เช่น การกินเอาเชื้อโรคที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหาร น้ำ หรือหญ้า การหายใจเอาเชื้อที่ปะปนอยู่ในอากาศและฝุ่นละออง หรือการเคลื่อนย้ายสัตว์ที่เป็นโรคจะทำให้เชื้อแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว รวมทั้งเชื้อโรคที่ติดตามร่างกาย เสื้อผ้า รองเท้าของคนหรือพาหนะก็สามารถแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นได้
ปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี กล่าวอีกว่า การป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย สามารถทำได้โดยการฉีดวัคซีน ใน โค กระบือ สุกร แพะ แกะ ทุก 6 เดือน อย่างเคร่งครัด โดยเกษตรกรสามารถติดต่อรับวัคซีนฟรีได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอใกล้บ้านทุกแห่งในพื้นที่จังหวัดลพบุรี หรือสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี โทร. 0-3642-3970 e-mail:www.pvlolbr.dld.go.th ขอความร่วมมือเกษตรกรให้ดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงในช่วงปลายฝนต้นหนาวเป็นพิเศษ ให้สัตว์มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ของเกษตรกรที่เลี้ยงแบบปล่อยให้อยู่กับธรรมชาติ ไม่มีโรงเรือนหรือที่กันแดดกันฝน ส่งผลให้สัตว์สุขภาพอ่อนแอ เจ็บ ป่วยได้ง่าย นอกจากนั้นต้องป้องกันไม่ให้สัตว์ไปสัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้ เกิดโรค เจ้าของต้องหมั่นสังเกตอาการ สัตว์อย่างสม่ำเสมอ หากพบสัตว์แสดงอาการป่วยตายโดยไม่ทราบสาเหตุไม่ควรนำซากสัตว์ไปประกอบอาหาร ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ หรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรได้ทันท่วงที