เตือนผู้ป่วยเบาหวานแช่น้ำเน่าเสี่ยงถูกตัดขา

แพทย์เตือนผู้ป่วยเบาหวานระวังเท้าแช่น้ำเสีย เสี่ยงสูงถูกตัดขา แนะเร่งจัดการขยะ ลดการระบาดของเชื้อโรคที่มากับน้ำ



นพ.ฆนัท ครุธกูล กรรมการวิชาการราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ และเลขาธิการเครือข่ายคนไทยไร้พุง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในช่วงที่น้ำท่วม ผู้ที่ต้องระวังมากที่สุดคือ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีแผลที่เท้า และผู้ที่มีโรคประจำตัว ไม่ควรให้เท้าแช่น้ำ หากจำเป็นต้องลุยน้ำให้ใช้ถุงพลาสติกห่อเท้าก่อน รีบทำความสะอาดเท้าทันทีหลังลุยน้ำด้วยสบู่และเช็ดเท้าให้แห้ง เพราะถ้าเกิดแผลที่เท้าขึ้นแผลจะหายช้าและเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่รุนแรง บางรายถึงขึ้นถูกตัดขา นอกจากนี้ควรระวังโรคที่มากับยุง เช่น ไข้เลือดออก จึงต้องเร่งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ โดยสิ่งสำคัญคือ ให้น้ำไหลผ่าน ไม่ควรหยุดนิ่ง ส่วนในพื้นที่ที่มีน้ำขังควรใส่ไซด์อะเบสเพื่อป้องกันการเพาะพันธุ์ของยุง


ด้าน นพ.สมิง เก่าเจริญ ประธานวิชาการราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประชาชนที่กำลังเผชิญกับอุทกภัย หรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงจากการเกิดน้ำท่วมระมัดระวังเชื้อโรคที่มากับน้ำ และโรคระบาดที่มาจากพาหะนำโรค เช่น หนู แมลง และยุง น้ำเน่าเสียถือเป็นแหล่งแพร่กระจายของเชื้อโรค ต้องเร่งจัดการ โดยอันดับแรกต้องจัดการกับขยะ เพราะขยะจะเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคจำพวกหนู แมลงสาบ และเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค


ดังนั้นในพื้นที่ที่นำท่วมยังมาไม่ถึงแต่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยควรรีบกำจัดขยะออกไปก่อนเป็นอันดับแรก โดยการคัดแยกขยะออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ขยะทั่วไปหรือขยะแห้ง ให้เก็บไว้เพื่อรอการกำจัด ขยะสารพิษต้องห่อและเก็บให้มิดชิดไม่ให้น้ำท่วมถึง เช่น สารเคมี ถ่านไฟฉาย หลอดไฟ และขยะชีวภาพหรือขยะเปียก เช่น พวกเศษอาหารอุจจาระหรือมูลสัตว์อาจพิจารณาใส่เชื้อจุลินทรีย์หรืออีเอ็มลงไปในถุงขยะเพื่อเร่งการย่อยสลาย ปิดถุงให้สนิท เจาะรูเล็กๆเพื่อระบายอากาศ หลีกเลี่ยงไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของสัตว์ นอกจากนี้ต้นไม้ที่ปลูกไว้ก็ควรยกให้สูงขึ้น เพราะหากปล่อยให้แช่น้ำเป็นเวลานานรากจะเน่าเสียและกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อในที่สุด


 


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

Shares:
QR Code :
QR Code