เตือนผู้ปกครองเฝ้าระวังอาการแทรกซ้อนโรคหัด
ที่มา : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา เตือนผู้ปกครองเฝ้าระวังอาการแทรกซ้อนโรคหัด และนำบุตรหลานไปฉีดวัคซีนตามเกณฑ์
นายแพทย์อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่า โรคหัด อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ผู้ปกครองจึงควรดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และหากผู้ป่วยหอบหายใจเหนื่อย กินไม่ได้ ซึม ไม่ปัสสาวะ ผู้ปกครองควรรีบนำผู้ป่วยพบแพทย์โดยด่วน
โรคหัด เกิดจากเชื้อไวรัส Measles เชื้อจะกระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายผู้ป่วย หากผู้ไม่มี ภูมิคุ้มกันสูดหายใจเอาละอองที่มีเชื้อเข้าไปจะทำให้เป็นโรคหัดได้ อาการคล้ายกับไข้หวัด คือ มีไข้ น้ำมูกไหล ไอ แห้ง ๆ ตาแดงแฉะ ระคายเคืองตา หลังไข้ 3-4 วัน ผู้ป่วยอาจเริ่มมีผื่นขึ้นเริ่มจากหลังหูบริเวณชิดขอบผม แล้วแผ่กระจายไปตามลำตัว แขน ขา ลักษณะผืนนูนแดงติดกันเป็นปืน ๆ ผืนจะคงอยู่นาน 5-6 วัน และค่อย ๆ จาง หายไปใน 2 สัปดาห์ หลังผืนขึ้น 2-3 วัน อาการไข้ของผู้ป่วยจะค่อย ๆ ดีขึ้นแต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการรุนแรง เช่น ภาวะอุจจาระร่วงจนขาดน้ำ ภาวะปอดอักเสบหรือภาวะสมองอักเสบ ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้ ผู้ปกครองจึงควรสังเกตอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาการที่บ่งชี้ว่าผู้ป่วยจะมีอาการหนัก ได้แก่ อาการหอบ หายใจเร็ว อาการซึม ไม่เล่น กินน้ำและอาหารได้น้อย หรือไม่กินเลย และการไม่ปัสสาวะ ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้อย่างรั้งรอ ให้นำผู้ป่วยส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที หรือสามารถใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉินศูนย์นเรนทร สงขลา โทรศัพท์สายด่วน โทร.1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับสถานการณ์โรคหัด 4 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง พบผู้ป่วยทั้งสิ้น 2,280 ราย เสียชีวิต 18 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 0.74 (ข้อมูล ณ 14 พ.ย. 61) ส่วนจังหวัดสงขลา พบผู้ป่วยทั้งสิ้น 203 ราย อัตราป่วย 14.41 ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิต 1 รายในอำเภอสะบ้าย้อย กลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยมากที่สุด คือ 0-4 ปี คิดเป็นอัตราป่วย 111.68 ต่อประชากรแสนคน อำเภอที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ สะบ้าย้อย เทพา คลองหอยโข่ง (ข้อมูล ณ 15 พ.ย. 61) โดยผู้ป่วยหนักจะมีภาวะแทรกซ้อน และสภาวการณ์ขาดสารอาหารร่วมด้วย
ในสถานการณ์ที่มีโรคหัดระบาด ผู้ปกครองควรหลีกเลี่ยงการนำเด็กเล็กไปในที่ชุมชน หลีกเลี่ยงการนำเด็กเล็กไปสัมผัสกับผู้ป่วย หากมีผู้ป่วยโรคหัดในบ้านให้แยกผู้ป่วยออกจากเด็กคนอื่น ๆ ในบ้านและบริเวณใกล้เคียง และให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อดำเนินการควบคุมโรค และหากผู้ป่วยเป็นเด็กนักเรียน หรืออยู่ศูนย์เด็กเล็ก ให้หยุดเรียนเป็นเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ
นายแพทย์อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล กล่าวเน้นย้ำว่า วิธีป้องกันโรคหัดที่สำคัญและได้ผลดีที่สุด คือ การฉีดวัคซีน โดยผู้ปกครองสามารถนำบุตรหลานไปรับวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์ได้ฟรี ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ซึ่งเข็มแรกฉีดเมื่อเด็กอายุ 9-12 เดือน และเข็มที่ 2 เมื่อเด็กอายุ 2 ปีครึ่ง เป็นต้นไป สำหรับบุตรหลานที่ไม่เคยได้รับวัคซีน หรือฉีดวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ ให้ผู้ปกครองนำบุตรหลานไปฉีดวัคซีนให้ครบโดยด่วน
ทั้งนี้ ขอเน้นย้ำว่าวัคซีนที่ใช้อยู่ได้รับคำวินิจฉัยจากสำนักจุฬาราชมนตรี และสภานิติศาสตร์อิสลามนานาชาติในองค์การ ที่ประชุมอิสลาม (OIC) แล้วว่าถูกหลักศาสนาอิสลาม และสามารถฉีดได้