เตือนผู้ปกครองปิดเทอม ดูแลบุตรหลานใกล้ชิด

ที่มา: กรมควบคุมโรค


เตือนผู้ปกครองปิดเทอม ดูแลบุตรหลานใกล้ชิด thaihealth


แฟ้มภาพ


มควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้ปกครองแม้เด็กจะปิดเทอมแล้วก็อย่าชะล่าใจ ให้ดูแลบุตรหลานใกล้ชิด  ระวังอาจเจ็บป่วยได้ง่ายในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะโรคมือ เท้า ปาก จากเชื้อเอนเทอโรไวรัส ไข้หวัดใหญ่ และปอดบวม หากเด็กป่วยอาจมีอาการรุนแรงกว่ากลุ่มอื่นๆ แนะสังเกตอาการของเด็กทุกวัน

         นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าช่วงปิดเทอมนี้เด็กๆ อยู่บ้านกับครอบครัว ประกอบกับเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว ผู้ปกครองต้องดูแลบุตรหลานและสังเกตอาการป่วยอย่างใกล้ชิดทุกวัน เนื่องจากเด็กอาจไปเล่นนอกบ้านกับเพื่อนๆ หรือร่างกายปรับสภาพไม่ทันในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย ทั้งโรคมือ เท้า ปาก โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคปอดบวม โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เพราะเด็กเล็กอาจบอกอาการเจ็บป่วยของตนเองไม่ได้  หากเด็กป่วยอาจมีอาการรุนแรงกว่ากลุ่มอื่นๆ

           โรคมือ เท้า ปาก จากเชื้อเอนเทอโรไวรัส บางสายพันธุ์มีความรุนแรงและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าสายพันธุ์ทั่วไป พบมากในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำ การติดต่อเกิดจากการได้รับเชื้อทางปากโดยตรง เชื้อไวรัสจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือจากการไอหรือจามรดกัน  ผู้ป่วยอาจมีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำใส หรือเม็ดแดงๆ ในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือก้น ควรพาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา โรคนี้จะรักษาตามอาการ และหายเองใน 7-10 วัน แต่หากเด็กมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ ต้องรีบนำเด็กกลับไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที  สำหรับวิธีป้องกันโรคมือ เท้า ปาก คือลดการสัมผัสเชื้อจากผู้ป่วย หมั่นทำความสะอาดของใช้และของเล่นเด็กเป็นประจำ เพื่อลดเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม ให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ทั้งก่อนและหลัง รับประทานอาหารหรือเข้าห้องน้ำ หากบุตรหลานป่วยควรแยกของใช้ส่วนตัวและไม่ให้คลุกคลีกับคนอื่นๆ เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ

           นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า ในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงนี้ ผู้ปกครองยังต้องระวังเด็กป่วยด้วยโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ และโรคปอดบวม ซึ่งเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จะอยู่ในน้ำมูก น้ำลายหรือเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อกันได้ง่ายจากการไอหรือจามรดกัน หลังรับเชื้อจะมีไข้สูง ตัวร้อน หนาว ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก อ่อนเพลีย มีน้ำมูกใส   ส่วนโรคปอดบวม ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ไอมีเสมหะ น้ำมูกเปลี่ยนสีจากสีเหลืองเป็นสีเขียวข้น เจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบง่าย ซึมลง  หากเด็กมีอาการข้างต้น ขอให้รีบพาไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาต่อไป 

           โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ สามารถป้องกันได้โดยยึดหลัก “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด”  ได้แก่ ปิด คือปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม ต้องใส่หน้ากากอนามัย ผ้า หรือ กระดาษทิชชูปิดปากและจมูกทุกครั้ง ล้าง คือล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่เมื่อสัมผัสสิ่งของ เช่น กลอนประตู ลูกบิด ราวบันได ราวบนรถโดยสาร เลี่ยง คือหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือเข้าไปในสถานที่แออัด ซึ่งมีคนอยู่จำนวนมาก และหยุด คือเมื่อป่วย ควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรม แม้ผู้ป่วยจะมีอาการไม่มากก็ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ      

           สถานการณ์โรคในปี 2561 นี้ จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–8 ตุลาคม 2561 เฉพาะในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พบผู้ป่วยโรคมือเท้าปาก 48,943 ราย (คิดเป็นร้อยละ 86.2 ของผู้ป่วยทั้งหมด) ไม่มีผู้เสียชีวิต  โรคไข้หวัดใหญ่ 33,691 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต  และโรคปอดบวม 83,064 ราย เสียชีวิต 4 ราย  สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

Shares:
QR Code :
QR Code