เตือนประชาชน ระวังโรคหยุดหายใจแบบอุดกั้น ทำสุขภาพแย่

แพทย์ เตือนประชาชน ระวังโรคหยุดหายใจแบบอุดกั้น ทำสุขภาพแย่ เสี่ยงเกิดสารพัดโรคเรื้อรัง “เบาหวาน ความดัน หัวใจ สมรรถภาพทางเพศเสื่อม” แนะเร่งตรวจคัดกรอง

เตือนประชาชน ระวังโรคหยุดหายใจแบบอุดกั้น ทำสุขภาพแย่

พญ.นฤชา จิรกาลวสาน, อาจารย์ประจำศูนย์ความเป็นเลิศด้านความผิดปกติจากการนอนหลับ แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวในการแถลงข่าวเนื่องในงานวันนอนหลับโลกปี 2555 ซึ่งตรงกับวันที่ 16 มี.ค. ของทุกๆ ปีว่า ปีนี้ในการรณรงค์งานวันนอนหลับโลกมีการจัดงานภายใต้แนวความคิด “หายใจง่าย นอนหลับสบาย (breathe easily, sleep well)” เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหานอนกรน และการหายใจผิดปกติระหว่างการนอนหลับ ว่า ปัจจุบันพบว่าประชากรชาวเอเชียมีปัญหาเรื่องการนอนกรนและหายใจผิดปกติ มากกว่าชาวยุโรป โดยพบว่าพบในเพศชายในอัตรา 5-86% และเพศหญิง 2-57% ส่วนมากเกิดในวัยผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 30 กิโลกรัม ส่วนเด็กก็พบได้ในอายุ ระหว่าง 2-9 ปี

พญ.นฤชา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้หากเป็นอาการนอนกรนธรรมดาก็สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดเพดานอ่อนได้ แต่กรณีที่กรนด้วยภาวะ โรคนอนหยุดหายใจแบบอุดกั้น (obstructive sleep apnea (osa)) โดยอาการที่แสดงออกชัดเจน คือ จะมีการหยุดหายใจเป็นช่วงๆ ในระหว่างการนอนหลับ สาเหตุเกิดจากการปิดกั้นของทางเดินหายใจส่วนบน ระยะเวลาการหยุดหายใจระหว่างหลับจะเกิดขึ้นนาน 10 วินาทีขึ้นไป และเกิดบ่อยตั้งแต่ 5 ครั้งต่อชั่วโมง ซึ่งจะมีผลทำให้ร่างกายไม่ได้รับออกซิเจน โดยพบว่าบางรายมีอาการดังกล่าวมากกว่า 100 ครั้งต่อชั่วโมง แต่ส่วนใหญ่จะพบเฉลี่ย 15 ครั้งต่อชั่วโมง สำหรับประเทศไทยนั้น จากการตรวจคัดกรองการนอนหลับในผู้ป่วยนอนกรนบ่อยๆ พบว่า 9 ใน 10 มีภาวการณ์หยุดหายใจแบบอุดกั้น โดยจะมีการนอนกรนเสียงดัง คล้ายสำลักอาหาร คอแห้งหลังตื่นนอน และง่วงนอนบ่อยช่วงกลางวัน ปวดหัวในตอนเช้า มีปัญหาความจำ อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย ไม่มีสมาธิทำงาน อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ รวมทั้งมีภาวะเศร้า ได้บ่อย

พญ.นฤชา กล่าวว่า ทั้งนี้ภาวะอาการดังกล่าว หากเกิดขึ้นบ่อยและเรื้อรัง จะเพิ่มความเสี่ยงของโรคอื่นๆ ได้ด้วย ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งจะเพิ่มมากถึง 2.89 เท่าภายใน 4 ปี 2.โรคหัวใจขาดเลือด 3.การเต้นของหัวใจผิดปกติ เต้นช้าลง ก่อเกิดโรคหัวใจวายได้ 4.เบาหวาน 5.ความดันหลอดเลือดแดงในปอดสูง 6.เส้นเลือดสมองอุดตัน 7.โรคซึมเศร้า 8.กรดไหลย้อน และ 9.สมรรถภาพทางเพศเสื่อม

“ทั้งนี้หากมีการตรวจเจอภาวะโรคดังกล่าว แพทย์จะให้การรักษาโดยใช้เครื่องช่วยหายใจชนิดแรงดันบวก (continuous positive airway pressure หรือ cpap)” โดยให้ผู้ป่วยสวมหน้ากากที่ต่อเข้ากับเครื่อง แล้วให้อากาศผ่านเข้าไปทางจมูกและปาก เพื่อให้ผู้ป่วยหายใจได้คล่อง รวมทั้งลดความรำคาญใจแก่คนรอบข้างและลดภาวะเสี่ยงของการเกิดโรคอื่นด้วย ดังนั้นจึงอยากรณรงค์ให้ประชาชนมีการคัดกรองโรคต่างๆ รวมทั้งลดอัตราการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ซึ่งเป็นอีกปัจจัยร่วมที่ก่อเกิดปัญหานอนกรนและการหยุดหายใจอุดกั้น” พญ.นฤชา กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการจัดงานวันนอนหลับโลกนั้น ได้มีการบริการตรวจคัดกรองภาวการณ์นอนหลับ และสาธิตการใช้เครื่องช่วยหายใจแบบ cpap โดยความร่วมมือของหน่วยงานต่าง อาทิ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านความผิดปกติจากการนอนหลับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สมาคมการแพทย์เพื่อการนอนหลับโลก สมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศ บริษัทรอยัลฟิลิปส์อิเล็กทรอนิกส์

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ astv ผู้จัดการ

Shares:
QR Code :
QR Code