เตือนนักดื่ม เสี่ยงผิดปกติทางจิต
กรมสุขภาพจิตชวนเลิกเหล้าเผยดื่มมากเสี่ยงผิดปกติทางจิต
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากรายงานขององค์การอนามัยโลก ปี 2556 คนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เฉลี่ย 7.08 ลิตร ต่อหัวประชากร ทำให้ถูกจัดเป็นประเทศที่ดื่มระดับเสี่ยง ปานกลาง ขณะที่ ข้อมูลจากการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากร พ.ศ. 2554 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ จากการ สำรวจประชากร พบว่า ในปี 2554 พบ วัยผู้ใหญ่ (อายุ 25-59 ปี) เป็นวัยที่ดื่มสูงสุด รองลงมา คือ กลุ่มเยาวชน (อายุ15-24 ปี) และกลุ่มสูงอายุ (อายุ60 ปีขึ้นไป) ชายดื่มมากกว่าหญิงในทุกกลุ่มอายุ
การศึกษาภาระโรคและการบาดเจ็บของประชาชนไทย พ.ศ. 2552 ของสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ พบว่า การดื่มสุราหรือแอลกอฮอล์มีความสัมพันธ์กับโรคต่างๆ ที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในอันดับต้นๆ หลายโรค เช่น โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน การติดสุรา โรคเอดส์ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด การเสื่อมสมรรถนะทางเพศ ฯลฯ ที่เห็นผลกระทบชัดเจน คือ กลุ่มโรค ทางระบบประสาทส่วนกลางและสมอง เช่น โรคสมองเสื่อม โรควิกลจริต โรคลมชัก นอนไม่หลับ หูแว่ว ประสาทหลอน โรคซึมเศร้า กลัว หวาดระแวง ฯลฯ โดยการดื่มสุราหรือแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยง ที่ทำให้เกิดความผิดปกติทางจิตสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 56 รองลงมา คือ บาดเจ็บ (ร้อยละ 23) และเป็นโรคตับแข็ง (ร้อยละ 9) ข้อมูลจาก รพ.สวนปรุง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคจิตเวช ที่มีปัญหาจากการดื่มสุรา พบว่า ในปี 2556 มีผู้ป่วยทางจิตจากการดื่มสุราเข้ารับการรักษาถึง 4,784 ราย และคาดว่ายังมีผู้มีแนวโน้ม ติดสุราจนต้องส่งมารักษาอีกเป็นจำนวนมาก หากไม่เข้ารับการรักษาและปล่อยให้อาการรุนแรงจะเป็นเหตุให้ก่อความรุนแรง เช่น เกิดอาการคลุ้มคลั่ง ทำร้ายร่างกายตนเองและผู้อื่น ก่ออาชญากรรม ทุบตี หรือฆ่าผู้อื่นอย่างโหดร้ายได้ ดังนั้น ช่วงเทศกาลเข้าพรรษาหรือวันงดดื่มสุราแห่งชาติ จึงถือเป็นโอกาสดีที่นักดื่มทุกเพศทุกวัยจะเริ่มต้นหันมางดหรือลดการดื่ม เพื่อสุขภาพกาย สุขภาพใจที่ดีและแข็งแรงของตนเองและคนในครอบครัว
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต