เตือนท่องเที่ยว ระวังภัยจากเครื่องทำน้ำอุ่น

ที่มา : สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค


กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ออกเตือนนักท่องเที่ยวที่เดินทางขึ้นไปรับลมหนาวในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ระวังภัยจากการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สที่ไม่ได้มาตรฐาน 


เตือนท่องเที่ยวรับลมหนาว ระวังภัยจากเครื่องทำน้ำอุ่น thaihealth


แฟ้มภาพ


จากข้อมูล 9 ปี (ปี 2551-2559) มีรายงานทั้งสิ้น 16 เหตุการณ์ มีผู้ป่วย 27 ราย เสียชีวิต 6 ราย ซึ่งเกิดในช่วง ธ.ค.-ม.ค.ของทุกปี  ซึ่งมีหลายเหตุการณ์ที่มีการอาบน้ำต่อเนื่องกันหลายคนและผู้ป่วยหรือเสียชีวิตเป็นผู้ที่อาบน้ำในลำดับหลังๆ แนะหากได้กลิ่นแก๊สผิดปกติ ควรรีบเปิดประตู ปิดเครื่องทำน้ำอุ่นและออกจากห้องน้ำทันที ถ้ามีผู้บาดเจ็บให้รีบโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 หรือสอบถามข้อมูลที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422


นายแพทย์เจษฎา  โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้หลายจังหวัดทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มมีอากาศหนาวเย็นและมีหมอกลงจัดตามภูเขาสูง ทำให้เริ่มมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปสัมผัสอากาศหนาวเย็นดังกล่าว โดยเฉพาะช่วงนี้จะมีอากาศหนาวเย็นลง ประกอบกับในเดือนธันวาคมก็จะมีวันหยุดยาวหลายครั้ง ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้ออกประกาศเตือนประชาชนในการป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่เกิดในฤดูหนาว เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งมีภัยสุขภาพที่สำคัญที่ควรระมัดระวังคือ ภัยจากการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส เพราะนักท่องเที่ยวที่ไปสัมผัสอากาศหนาวมักต้องการอาบน้ำอุ่นจากเครื่องทำน้ำอุ่น โดยเฉพาะตามที่พักหรือรีสอร์ทต่างๆ ที่อาจมีการติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นแบบใช้แก๊สแทนระบบไฟฟ้า


ข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา (ปี 2551-2559) จากการเฝ้าระวังเหตุการณ์การป่วยและเสียชีวิตขณะอาบน้ำในห้องน้ำที่ใช้เครื่องทำน้ำอุ่นแบบใช้ระบบแก๊ส พบว่ามีรายงานทั้งสิ้น 16 เหตุการณ์ มีผู้ป่วย 27 ราย และเสียชีวิต 6 ราย อายุระหว่าง 2-54 ปี เกิดเหตุในช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคมของทุกปี  ส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย   พบตามสถานที่พักต่างๆ เช่น รีสอร์ท 12 ราย, โรงแรม ที่พักราชการ และสถานที่ปฏิบัติธรรม อย่างละ 4 ราย นอกจากนี้ ยังพบในบ้านและในโรงเรียนด้วย โดยเฉพาะช่วงต้นปี 2559 ได้รับรายงาน 3 เหตุการณ์ มีผู้ป่วย 4 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งมีหลายเหตุการณ์ที่มีการอาบน้ำต่อเนื่องกันหลายคนและผู้ป่วยหรือเสียชีวิตเป็นผู้ที่อาบน้ำในลำดับหลังๆ  จากการสอบสวนทุกเหตุการณ์ที่ผ่านมา พบว่าเกิดจากการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นที่ไม่มีมาตรฐาน (มอก.) และมีการติดตั้งที่ไม่ได้มาตรฐานไม่เหมาะสมกับสภาพและขนาดห้องน้ำ มีช่องระบายอากาศขนาดเล็ก ไม่มีหรือไม่เปิดพัดลมดูดอากาศ จากการตรวจวัดปริมาณแก๊สใน 6เหตุการณ์ พบว่ามีปริมาณแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้แก๊สไม่สมบูรณ์ มีระดับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อทดลองวัดทุก 10 นาที


นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อไปว่า สาเหตุที่ทำให้ผู้อาบน้ำป่วยและเสียชีวิต เกิดเนื่องจากเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สเผาไหม้ออกซิเจนเพื่อทำความร้อน ในขณะเดียวกันก็สร้างคาร์บอนไดออกไซด์และคาร์บอนมอนอกไซด์ขึ้น ดังนั้น หากห้องน้ำมีระบบการระบายอากาศที่ไม่ดีก็จะเกิดการสะสมของก๊าสพิษเหล่านี้ขึ้น และการสูดดมก๊าสคาร์บอนมอนอกไซด์เข้าไป ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ มึนงง หน้ามืด หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน ซึม หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้ กลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุด คือ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ หอบหืด ถุงลมโป่งพอง โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งหากได้รับแก๊สพิษโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตสูง


สำหรับคำแนะนำในการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส มีดังนี้ 1.เจ้าของกิจการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรมีการตรวจสอบเครื่องทำน้ำอุ่นแบบใช้ระบบแก๊สให้ได้มาตรฐานและปลอดภัย โดยติดตั้งในห้องที่มีการระบายอากาศที่เพียงพอ ติดป้ายเตือน และบอกวิธีใช้งานของเครื่องทำน้ำอุ่นไว้อย่างชัดเจน  2.ผู้เข้าพักควรสังเกตอาการที่อาจเกิดขึ้นจากการได้รับแก๊สระหว่างอาบน้ำ เช่น วิงเวียน หน้ามืด หายใจลำบาก หรือหากได้กลิ่นแก๊สผิดปกติ ควรรีบเปิดประตู ปิดเครื่องทำน้ำอุ่น และออกจากห้องน้ำทันที  3.คนที่มีโรคประจำตัว ควรระมัดระวังเป็นพิเศษในการใช้ห้องน้ำที่มีเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส เพราะหากได้รับแก๊สดังกล่าวจะทำให้เสียชีวิตได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่นๆ  4.ควรให้ความรู้แก่ประชาชนที่เข้าพักในที่พักที่มีการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สอย่างต่อเนื่อง


ที่สำคัญบ้านหรือผู้ประกอบการให้เช่าห้องพัก ถ้าติดเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส ควรติดตั้งพัดลมดูดอากาศในห้องอาบน้ำนั้นด้วย  หากมีผู้บาดเจ็บให้รีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 หรือสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

Shares:
QR Code :
QR Code