เตือนถูกสัตว์เลี้ยงกัดหรือข่วน รีบไปปรึกษาแพทย์

ที่มา: กรมควบคุมโรค


เตือนถูกสัตว์เลี้ยงกัดหรือข่วน รีบไปปรึกษาแพทย์ thaihealth


แฟ้มภาพ


กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนหากถูกสัตว์เลี้ยงกัดหรือข่วน แม้รอยแผลจะเล็กน้อยหรือนานแล้วก็ตาม ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อรับการวินิจฉัยและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยในปีนี้ พบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 7 ราย  ส่วนผลการสำรวจ DDC poll เมื่อต้นเดือนมีนาคมนี้ ก็ยังพบว่าประชาชนกว่าร้อยละ 50 จะไม่ทำอะไรและไม่ไปพบแพทย์เมื่อถูกสุนัข-แมว กัดข่วน


          นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–27 มีนาคม 2561 มีผู้เสียชีวิตแล้ว 7 ราย (สุรินทร์ สงขลา ตรัง นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ บุรีรัมย์ และพัทลุง) ผู้เสียชีวิตรายล่าสุดอยู่ที่จังหวัดพัทลุง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่ตรวจพบหัวสัตว์ให้ผลบวกต่อเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จากการสอบสวนโรค พบว่า เมื่อ 1 เดือนก่อน ขณะผู้เสียชีวิตเข้าไปจับลูกสุนัขอายุเพียง 4 เดือน ที่เลี้ยงไว้ ลูกสุนัขกัดบริเวณขาทำให้มีบาดแผลและเลือดออก ซึ่งผู้เสียชีวิตล้างแผลแต่ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า


          จากข้อมูลในปีนี้ พบว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ถูกลูกสุนัขกัดหรือข่วน แล้วไม่ไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งเกิดจากความชะล่าใจในการป้องกันหลังสัมผัสสัตว์ที่เสี่ยงมีเชื้อเพราะคิดว่าเป็นลูกสัตว์ที่นำมาเลี้ยงน่าจะไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า และขาดความตระหนักเพราะเห็นเป็นแผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นอกจากนี้ ยังพบว่าประชาชนมีการรับรู้ความเสี่ยง ความรู้ และพฤติกรรมสุขภาพเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่พบหัวสัตว์บวกต่อเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า เห็นได้จากผลการสำรวจความคิดเห็น หรือ DDC poll เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2561 นี้ เช่น ประชาชนคิดว่าโรคพิษสุนัขบ้ารักษาได้ ร้อยละ 14.8,ไม่รู้ว่าลูกสุนัขหรือแมว อายุ 2-3 เดือน ต้องพาไปฉีดวัคซีน ถึงร้อยละ 75.4, เมื่อถูกสุนัขแมวกัดหรือข่วน จะไม่ทำอะไรและไม่ไปพบแพทย์ ร้อยละ 51.3 เป็นต้น


          นายแพทย์สุวรรณชัยกล่าวอีกว่า โรคพิษสุนัขบ้าสามารถพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว โค กระบือ สุกร เป็นต้น ซึ่งในประเทศไทยจะพบมากในสุนัขและแมว หากประชาชนถูกสุนัขและแมว กัด ข่วน หรือเลียบริเวณแผล แม้เพียงเล็กน้อยก็อย่าได้ชะล่าใจ รีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ทันทีหลายๆ ครั้ง ประมาณ 10 นาที หลังล้างแผลใส่ยาฆ่าเชื้อโพวิโดนไอโอดีน (เบตาดีน) เพื่อลดการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จากนั้นรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อพิจารณาการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ถ้าได้รับการฉีดวัคซีนแล้วให้ไปฉีดวัคซีนให้ครบตามนัดทุกครั้ง


          กรมควบคุมโรค ขอแนะนำว่าประชาชนที่เคยถูกสัตว์เลี้ยงกัดหรือข่วนนานแล้ว โดยเฉพาะในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา แล้วไม่ได้ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ขอให้ไปปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยโดยเร็วเนื่องจากระยะฟักตัวของโรค ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนมีอาการป่วยอาจสั้นมาก ตั้งแต่ 1 สัปดาห์หรืออาจนานถึง 1 ปีได้ หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

Shares:
QR Code :
QR Code