เตือนคุณแม่มือใหม่เสี่ยงเกิดภาวะฉุกเฉิน
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
สพฉ. เตือนคุณแม่มือใหม่มีความเสี่ยงภาวะฉุกเฉินระหว่างตั้งครรภ์ จะแบ่งเป็น 2 ช่วง โดย ช่วงครึ่งแรกของการตั้งครรภ์ ปัจจัยที่มีความเสี่ยงที่จะทำให้แม่ตั้งครรภ์ได้รับอันตรายคือ ภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ซึ่งเกิดได้หลายสาเหตุและจะมีความรุนแรงแตกต่างกันออกไป
นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ออกมาให้ความรู้ถึงการดูแลสุขภาพร่างกายของแม่และหญิงตั้งครรภ์ที่กำลังจะเป็นแม่ว่า ระดับความเสี่ยงของแม่ขึ้นอยู่กับอายุและการดูแลร่างกายของแม่ ซึ่งตามปกติ แม่ที่เริ่มมีอายุมากขึ้น จะมีภาวะเสี่ยงต่อโรคฉุกเฉินเพิ่มมากขึ้น อาทิ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจดังนั้นควรดูแลให้แม่ตรวจร่างกายเป็นประจำ เพื่อดูว่ามีภาวะเสี่ยงหรือไม่ ที่สำคัญควรหมั่นชวนแม่ไปออกกำลังกาย ควบคุมการรับประทานอาหาร เพื่อป้องกันการเกิดภาวะฉุกเฉิน ส่วนแม่วัยรุ่นที่ยังมีลูกเล็กก็ต้องดูแลตัวเองให้ดี เพราะนอกจากจะต้องดูแลลูกแล้วยังต้องหาเวลาดูแลสุขภาพตัวเองด้วย เนื่องจากผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคเฉพาะบางอย่างมากกว่าผู้ชาย
รองเลขาธิการ สพฉ. ยังให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลตัวเองและสามีดูแลภรรยาว่า แม่ที่กำลังตั้งครรภ์ยิ่งต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษ เพราะยิ่งมีความเสี่ยงซึ่งภาวะฉุกเฉินระหว่างตั้งครรภ์นั้น จะแบ่งเป็น 2 ช่วง โดย ช่วงครึ่งแรกของการตั้งครรภ์ ปัจจัยที่มีความเสี่ยงที่จะทำให้แม่ตั้งครรภ์ได้รับอันตรายคือ ภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ซึ่งเกิดได้หลายสาเหตุและจะมีความรุนแรงแตกต่างกันออกไป อาทิ การตั้งครรภ์นอกมดลูก ภาวะตกเลือด และภาวะเลือดออกในช่องท้องจากการตั้งครรภ์นอกมดลูก อาจทำให้แม่เสียเลือดมาก ซึ่งถือเป็นสาเหตุทำให้เกิดการเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆ ดังนั้นจึงต้องมีการระมัดระวังตัวเองอย่างมาก ซึ่งสังเกตอาการได้ดังนี้
"การตั้งครรภ์นอกมดลูกจะมีอาการปวดท้องข้างใดข้างหนึ่งขึ้นมาโดยฉับพลัน มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดสลับกับมีอาการหน้าท้องอืดตึง หากเอามือคลำเจอก้อนที่ท้องประกอบกับมีอาการอ่อนเพลียหรือหน้ามืดในขณะที่ลุกขึ้นนั่ง นอกจากนี้ยังพบภาวะความดันโลหิตต่ำและชีพจรเต้นเร็ว"
และในส่วนภาวะ ความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ครึ่งหลัง คือ ภาวะความดันโลหิตสูง และครรภ์เป็นพิษผู้ป่วยจะมีอาการความดันโลหิตสูงมาก อวัยวะภายในร่างกายหลายระบบล้มเหลว ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะทำให้แม่และเด็กในครรภ์เสียชีวิตจากภาวะหลอดเลือดตีบ เนื่องจากอวัยวะต่างๆ ได้รับเลือดไปเลี้ยงน้อยลง ซึ่งในบางรายที่มีอาการหนักมากจะทำให้เกิดอาการชักและมีเลือดออกในสมอง ทั้งนี้แม่ที่ ครรภ์เป็นพิษร่างกายจะแสดงอาการปวดศีรษะ ตามัว เกิดอาการบวมที่ขา-แขน หรือใบหน้า มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วประมาณ 1 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ ปวดท้องจุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ซึ่งหากพบเห็นแม่ที่มีอาการดังกล่าวทั้งสภาวะความเสี่ยงครึ่งแรกและครึ่งหลังบุคคลใกล้ชิดควรรีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์อย่างเร่งด่วน
ซึ่งจากสถิติพบว่าตลอดทั้งปี พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมามีการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินจากการตั้งครรภ์การคลอดและนรีเวช 26,461 คน โดยในช่วงเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงเดือนของวันแม่มีผู้ป่วยฉุกเฉินที่ถูกนำส่งโรงพยาบาลจากการคลอด 2,937 คน
ดังนั้นสายตรวจระวังภัยอยากจะฝากไปยังสามีและลูกๆ ถึงการดูแลภรรยาที่กำลังตั้งครรภ์และแม่สูงอายุอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากมีเวลาควรพาแม่ไปออกำลังกาย หมั่นรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และต้องหาเวลาว่างจากการทำงานพาแม่ที่กำลังตั้งครรภ์และแม่สูงอายุไปตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสุขภาพที่ดีทั้งแม่และลูกในครรภ์