เติมเต็ม ‘ซาเล้ง’ หวังช่วยลดขยะเมือง
ที่มา : เว็บไซต์ไทยโพสต์
แฟ้มภาพ
ในเมืองใหญ่มีซาเล้งขับตามตรอกซอกซอยเก็บเศษขยะที่กระจัดกระจายและร้านรับซื้อของเก่าตั้งอยู่ให้เห็นจนชินตา ซึ่งมีความสำคัญต่อการนำขยะเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ตอกย้ำข้อเท็จจริงว่า ขยะเป็นทอง อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า เหล่าซาเล้งยังมีความรู้ในการคัดแยกขยะแต่ละประเภทไม่เพียงพอ รวมถึงการทำงานที่ไม่เหมาะสม ขาดความระวังต่อวัตถุอันตรายที่ทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพวกเขา ตลอดจนสิ่งแวดล้อมและชุมชน
ขยะที่กลุ่มซาเล้งเก็บเพี่อนำไปขายต่อให้ร้านของเก่าหรือโรงงาน ไม่ได้มีเฉพาะกระดาษ พลาสติก และแก้ว ที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย แต่ยังมีเหล็ก โลหะ ทองแดง ทองเหลือง สแตนเลส เครื่องใข้ไฟฟ้า ฯลฯ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตซาเล้งอาชีพที่มีความเปราะบาง พร้อมแก้ปัญหาขยะล้นเมือง กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จับมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า ชวนซาเล้งและพ่อค้าร้านรับซื้อของเก่าจากในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดต่าง ๆ เข้าฝึกอบรมการพัฒนาศักยภาพ และเพิ่มประสิทธิภาพในการซื้อขายขยะรีไซเคิลผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ภายใต้โครงการพัฒนาและบริหารจัดการการคัดแยกและนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะ โดยการอบรมจะจัดทั้งหมด 5 ครั้งกระจาย ทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้
ปรีญาพร สุวรรณเกษ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าเป็นตัวกลางในการเก็บหรือรับซื้อขยะรีไซเคิลหรือวัสดุเหลือใช้ ถือเป็นกลไกทำให้เศษพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ จากบ้านเรือน อาคาร สำนักงาน และแหล่งกำเนิดต่าง ๆ ถูกนำกลับไปใช้ประโยชน์เป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม ทำให้ขยะ ต้องไม่ใช่ ขยะ แต่ขยะ คือ ทรัพยากรที่ต้องนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนสอดคล้องกับนโยบาย BCG โมเดลตามที่รัฐบาลประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ และจะสนับสนุนนโยบายห้ามนำเข้าเศษพลาสติกในอีก 2 ปีข้างหน้า
ด้าน ศรีสุวรรณ ควรขจร กรรมการกองทุน สสส. กล่าวว่า การปรับทัศนคติเกี่ยวกับขยะมูลฝอย โดยมองว่าสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ เป็นการเพิ่มมูลค่าและรายได้ให้กับประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงลดต้นทุนการผลิตได้อีกทางหนึ่ง อาชีพซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าจะต้องมีหน้าที่คัดแยกวัสดุแต่ละชนิดไม่ให้ปะปนกัน เช่น แก้ว กระดาษ พลาสติก อลูมิเนียม ทองแดง เหล็ก เพื่อเพิ่มมูลค่าในการค้าขาย ซึ่งอาจเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การปนเปื้อนของโลหะหนักและสารพิษในพื้นที่โดยรอบ สุขภาพอนามัยผู้ปฏิบัติงานและคนในชุมชน จากการสัมผัสต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน การพัฒนาศักยภาพจะยกระดับคุณภาพชีวิตของซาเล้งและร้านของเก่าอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่สุขภาพกาย จิต ปัญญา สร้างความรู้ความเข้าใจในการประกอบอาชีพที่ปลอดภัยต่อชีวิต หนุนให้เกิดการจัดตั้งเครือข่ายองค์กรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
อาชีพซาเล้งอยู่คู่สังคมไทยมายาวนาน ชัยยุทธิ์ พลเสน นายกสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า ให้ข้อมูลว่า ไทยมีอาชีพซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่ามากว่า 100 ปี การยกระดับและเพิ่มศักยภาพการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม สมาคมฯ ได้เตรียมวิทยากรผู้ที่มีประสบการณ์ ความรู้ความสามารถมาบรรยายให้ความรู้แก่คนขับซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าจากทั่วประเทศ เพื่อเปลี่ยนแปลงอาชีพนี้ให้เกิดการพัฒนา เพิ่มโอกาส เพิ่มศักยภาพ กิจกรรมลักษณะนี้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องงควรจัดต่อเนื่อง
เปรม พฤกษ์ทยานนท์ เจ้าของเพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป กล่าวว่า ธุรกิจรับซื้อของเก่าเป็นธุรกิจที่ไม่ได้รับความสนใจจากสังคมเท่าที่ควร ทั้งที่เป็นกลไกแก้ไขปัญหาขยะของประเทศ รวมถึงผู้ประกอบการรีไซเคิลเองขาดการพัฒนาองค์ความรู้และรูปแบบธุรกิจที่ทำให้เข้าถึงประชาชนได้ง่ายขึ้น การอบรมเป็นจุดเริ่มต้น ทำให้ซาเล้งและผู้ประกอบการของเก่าร่วมกันพัฒนาธุรกิจรีไซเคิลไทยให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงด้านสังคม เทคโนโลยี และเป็นหนึ่งในกลไกหลักที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของไทย
นอกจากการเพิ่มความรู้ อีกสิ่งที่จะช่วยเติมเต็มในวงจรรีไซเคิล เป็นการสนับสนุนให้ผู้ที่ประกอบอาชีพซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าใช้ดิจิทัลแอปพลิเคชัน”ฮีโร่ รีไซเคิล by Green2Get” เพื่อให้ขยะแต่ละชิ้นไปเกิดใหม่ ปัญหาปัจจุบันขยะบางชนิด ประขาชนเก็บ ซาเล้งเก็บ ร้านรับซื้อของเก่ามี แต่ไม่รู้ว่าโรงงานที่รับซื้ออยู่ที่ไหน ขยะบางชนิดโรงงานต้องการ ประชาชนคัดแยกขยะแต่ต้นทางให้แล้ว แต่เหล่าซาเล้งไม่เก็บ ตลอดจนขยะบางประเภท ประชาชนไม่รู้ว่าสามารถขายได้ โรงงานและซาเล้งอยากได้ นี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวของปัญหา
เพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป จึงพัฒนาแอป”ฮีโร่ รีไซเคิล” ตั้งเป้าเป็นจุดศูนย์กลางของคนในวงการค้าของเก่า ทั่วประเทศ เพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น นอกจากเชื่อมโนงร้านค้าในธุรกิจรีไซเคิลไว้ด้วยกัน ปลอดภัยด้วยระบบจับคู่ที่กำหนดเองแล้ว ยังเชื่อมโยงเข้ากับประชาชนผู้แยกขยะกว่า 4 หมื่นคนที่ใช้แอป Green2Get ทำให้คนค้าของเก่าได้เจอกับลูกค้าใหม่ๆ หมายถึง ประชาชนทั่วๆ ไปนั่นเอง หนุนการเข้าถึงคน ห้างร้าน ผู้ขายขยะที่ใกล้บ้าน
ยกตัวอย่างง่าย ๆ ร้านขายของเก่า ลูกค้า คือ เหล่าซาเล้ง ส่วนคู่ค้า คือ โรงอัดหรือโรงงานรีไซเคิล หรือแม้แต่ผู้ที่ไม่ได้ทำธุรกิจค้าของเก่าโดยตรง แต่เป็นองค์กรการกุศล หรือธนาคารขยะที่ชุมชนต่าง ๆ จัดตั้งขึ้น ก็สามารถสมัครใช้งานแอปนี้ เพียงแค่สามารถรับขยะรีไซเคิลได้ก็พอ
สำหรับแอป ”ฮีโร่ รีไซเคิล” มีฟังก์ชันตอบโจทย์คนรีไซเคิล ทั้งเครื่องมือช่วยคำนวน อัพเดทข้อมูลราคาวัสดุต่างประเทศ ปรับขึ้นหรือลดลง เพื่อประกอบการตัดสินใจขาย ระบบแจ้งราคา หรือแม้กระทั่งดูว่าอยู่เขตสีอะไรตามผังเมืองที่ห้ามตั้งร้านรับซื้อของเก่า ซึ่งส่วนใหญ่เขตที่ห้าม คือ เขตสีแดง สีส้ม สีน้ำตาล สีเขียวคาดขาว ฯลฯ คนค้าของเก่า ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าของเก่า ซาเล้ง รถเร่ โรงงาน สามารถดาวน์โหลดแอปได้แล้ว ทั้งระบบ iOS และ Android ใช้งานฟรี
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มศักยภาพซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าเป็นเพียงกลไกหนึ่งในการแก้ปัญหาการจัดการขยะ ทุกภาคส่วนในสังคมต้องลงมือทำอย่างจริงจังเพื่อพิชิตเป้าหมายสังคมไทยไร้ขยะ