เติมวัคซีนชีวิตให้ลูกน้อย ด้วย EF

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


เติมวัคซีนชีวิตให้ลูกน้อย ด้วย EF thaihealth


หากตั้งคำถามกับคนเป็นพ่อแม่ส่วนใหญ่ ว่าอยากให้ลูกของเราเติบโตขึ้นมาอย่างไรคงไม่ปฏิเสธว่าทุกคนอยากให้ ลูกหลานของตนนั้นเป็นคนเก่ง หรือคนที่ประสบความสำเร็จ หรือแม้แต่เป็นคนดีที่มีความสุข


แต่บางทีคำตอบสูตรสำเร็จเหล่านี้ อาจกำลังเป็นกับดักที่ชี้นำความคิดพ่อแม่ส่วนใหญ่ ให้แสวงหาแต่โอกาสสร้างความสำเร็จให้กับลูกหลาน จนลืมไปว่า "คนเก่ง คนฉลาด หรือคนที่ประสบความสำเร็จ" อาจไม่ใช่คำตอบเพียงอย่างเดียว


ท่ามกลางโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเต็มไปด้วยสิ่งเร้าและสิ่งยั่วยุต่างๆ เช่นปัจจุบันการมีแต่ IQ และ EQ  ที่ดี จึงยังไม่เพียงพอ เพราะเด็กไทยยุคใหม่ยังต้องสร้าง "EF" เพื่อไม่ให้เขาตกเป็นเหยื่อสิ่งยั่วเย้าสังคม รู้จักรับมือ ยับยั้งชั่งใจกับสิ่งไม่ดีต่างๆ ได้ตลอดรอดฝั่ง


โลกทัศน์ใหม่ เมื่อคนไทยรู้จัก EF


EF  เป็นคำใหม่สำหรับสังคมไทย ที่ไม่ได้บัญญัติเพื่อความเก๋ไก๋เพียงอย่างเดียว แต่มีชื่อเต็มว่า Executive Function ที่หมายถึงกระบวนการทางความคิดที่ช่วยให้เราวางแผน มุ่งมั่นจดจ่อ จดจำคำสั่ง หรือจัดการกับงานหรือปัญหาที่ประดัง เข้ามาให้ลุล่วง


หากฉายภาพง่ายๆ ที่อาจนิยามให้เข้าใจ EF มากขึ้น EF คือสันดานดี ที่สร้างสรรค์ หากปลูกฝังแต่วัยเยาว์ ก็จะเป็นอุปนิสัยที่ติดตัวของเด็กคนนั้นตลอดไป


สิ่งหนึ่งที่เราควรรู้คือ ทักษะ EF ไม่ได้เกิดเองตามธรรมชาติ แต่ต้อง "ฝึกฝน" ต่อเนื่องเป็นขั้นตอน เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ จริงที่หลากหลาย โดยเฉพาะในช่วงวัย 3-6 ปี เป็นช่วงเวลาทองที่สำคัญมากต่อการฝึกฝนทักษะด้าน EF แต่จากรายงานผลพัฒนาการด้านการคิดเชิงบริหารในเด็กปฐมวัย ตุลาคม 2559 โดยศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์และสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวหรือการวัด EF ในเด็กอายุ 2-6 ปี จำนวน 2,965 คน กระจายทุกภูมิภาคของประเทศ พบว่า  มีเด็กไทยเกือบ 30% มีปัญหาพฤติกรรมด้านการคิดเชิงบริหารน้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ซึ่งเด็กเหล่านี้จะมีปัญหาในการกำกับตนเอง ทำโดยไม่คิด ใจร้อนรอคอยไม่เป็น วอกแวกง่ายไม่สามารถทำงานยากให้สำเร็จ


นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์และนักวิชาการด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน กล่าวถึงสาเหตุที่เด็กไทยไม่มีเป้าหมายว่า เพราะสมองถูกทำลายตั้งแต่อนุบาลด้วยระบบการศึกษาที่เร่งเรียนตั้งแต่ 3 ขวบ ซึ่งการพัฒนาสมองในเด็ก 2-7 ขวบ ควรให้เด็กได้เล่นและฝึกให้ทำงานบ้าน ซึ่งการทำงานบ้านเป็นการพัฒนาทักษะสมองมากกว่าการทำการบ้าน เพราะเป็นสถานการณ์ท้าทายที่ต้องวางแผนที่ซับซ้อน โดยเด็กจะรู้จักวางแผนทำงานบ้านให้เร็วเพื่อที่จะได้ออกไปเล่น


เติมวัคซีนชีวิตให้ลูกน้อย ด้วย EF thaihealth


การพัฒนา EF สร้างได้ในเด็กทุกแห่งไม่เกี่ยวกับเงิน เพียงแค่เปลี่ยนวิธีการเลี้ยงดู เช่น อ่านนิทานให้ฟังก่อนนอน เล่นให้เยอะ ทำงานบ้านให้มากเพื่อให้รู้จักควบคุมตนเอง ปฏิรูประบบการศึกษาโดยเปลี่ยนโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนสมัยใหม่โดยใช้โจทย์เป็นฐาน เพื่อให้เด็กยุคใหม่สามารถกำหนดเป้าหมาย เป็น และทำตามเป้าหมายของตนเองที่ตั้งไว้อย่างไม่วอกแวก


เพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เสริมในเรื่องนี้ว่า เด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรมในระยะยาวจะเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จในด้านการเรียน การทำงาน การอยู่ร่วมกันในสังคม รวมทั้ง มีโอกาสเกิดปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมา


"โดยจากการศึกษาในต่างประเทศเปรียบเทียบเด็กที่ขาดการพัฒนาทักษะ EF เมื่อเทียบกับเด็กที่มีทักษะ EF ที่ดี พบว่า เด็กที่ไม่ถูกฝึกทักษะ EF จะมีรายได้น้อยกว่า มีแนวโน้มติดประวัติอาชญากรรมถึง 4 เท่า ใช้สารเสพติดมากกว่าถึง 3 เท่า และ มีแนวโน้มเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวมากถึง 2 เท่า ดังนั้นจึงไม่ควรมองข้ามเด็กไทยกว่า 30% ที่มีพัฒนาการ EF ล่าช้า โดยแนวทางสำคัญคือ ระบบการสอนและการดูแลเด็กปฐมวัยไม่ควรเร่งเรียนเขียนอ่านเพียงอย่างเดียว เพราะทำให้เด็กขาดโอกาสในการฝึกคิด ฝึกตัดสินใจ และฝึกกำกับตนเองไปสู่เป้าหมาย ครูผู้ดูแลเด็กปฐมวัยควรมีความรู้ในการสามารถสังเกตและประเมินพัฒนาการเด็ก ตลอดจนจัดการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก ซึ่งสสส.และภาคีเครือข่าย ThailandEF Partnership ได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติจริงเพื่อส่งเสริม EFในเด็กและเยาวชนต่อไป"


เติมวัคซีนชีวิตให้ลูกน้อย ด้วย EF thaihealth


บทเรียนขับเคลื่อนระยอง EF City


ที่จังหวัดระยอง EF กำลังกลายเป็นปฐมบทใหม่ของการขับเคลื่อน ที่เกิดจากหลายภาคส่วนเล็งเห็นถึงความสำคัญของการป้องกันเด็กและเยาวชนจากปัญหาความเสี่ยงนำมาสู่โครงการจัดอบรมชุดความรู้ให้กับผู้เข้าร่วมอบรมในชื่อ "ทีมวัคซีนชีวิต" ที่ใช้ระยะเวลาเพียงปีกว่าทีมงานขยายผลด้าน EF เชิงรุก ระหว่างภาคเอกชน ภาคท้องถิ่น หน่วยงานสาธารณสุขในท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุข ครูปฐมในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และตัวแทนภาคประชาชนในพื้นที่ ภายใต้เครือข่ายระยอง EF City เป็นหนึ่งในพื้นที่ต้นแบบของการสร้าง EF Eco System ของประเทศไทยรุ่นแรก


"แรกเริ่มเดิมที บริษัทดาวเป็นธุรกิจปิโตรเคมี จากสหรัฐอเมริกา เรามีการตั้งโรงงานในจังหวัดระยอง โดยจากการทำงานกับพื้นที่เพื่อสร้างแผนพัฒนาชุมชนตามแนวทางยั่งยืน ทำให้พบว่ามีปัญหาหนึ่งที่เป็นปัญหาสำคัญ คือปัญหายาเสพติด ปัญหาเด็กและเยาวชน และจากการเข้ามาดูงานในการประชุมวิชาการ EF Symposium 2015 เห็นว่าเป็นวิทยาศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าการพัฒนาสมองเด็กและเยาวชน มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจริง จึงใช้เวลา 6-7 เดือนในการพัฒนาโครงการ" ภรณี กองอมรภิญโญ ตัวแทนจากกลุ่มบริษัท ดาว (ประเทศไทย) บอกเล่าที่มาโครงการ


"ตอนนั้นทุกคนงงว่าดาวจะมาทำอะไรมาหาเรื่องยุ่งยากเพิ่มขึ้นหรือเปล่า แต่สิ่งที่เราบอกเขาคือ เราจะมาสร้างสังคมใหม่กัน โดยเริ่มจากที่เด็กๆ ของเรา เพื่อให้มีอนาคตดีกว่าเดิม นั่นเป็นจุดกำเนิดที่ว่าทุกคนมาช่วยเรา"


กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ร่วมกับภาคีเครือข่ายดำเนินการมาตั้งแต่สิงหาคม 2559 เริ่มจากการสร้างแกนนำ ทีมวัคซีนชีวิต นำมาสู่กิจกรรมต่อเนื่อง ทั้งกิจกรรมในห้องเรียน ห้องเรียนพ่อแม่ กิจกรรมให้ความรู้ในสถานพยาบาล ในพื้นที่สาธารณะ ลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน เป็นต้น โดยนำร่องในสองพื้นที่ใกล้ตัวก่อนคือ มาบตาพุดและ บ้างฉาง


ผลจากการดำเนินงานปีกว่ามีการขับเคลื่อนกิจกรรมกว่า 34 กิจกรรม ปัจจุบันพลังของพื้นที่ทำให้เกิดโครงการทุกวัน จนมีแกนนำ 240 คน ขยายการดำเนินงานใน 9 ท้องถิ่น เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเด็กปฐมวัยผ่านหน่วยงานการศึกษา 65 แห่ง หน่วยงานสาธารณสุข 11 แห่ง ส่งผลให้เด็กผู้ปกครองสามารถเข้าถึงกิจกรรมอีเอฟอย่างกว้างขวาง ซึ่งเหล่าแกนนำวัคซีนชีวิตสามารถขยายผลและบูรณาการการเรียนการสอนและดำเนินโครงการในชุมชน  ทำให้มีผู้ได้รับประโยชน์มากกว่า 15,000 คน


เติมวัคซีนชีวิตให้ลูกน้อย ด้วย EF thaihealth


กาญจนา เตลียะโชติ ผู้อำนวยการสำนักงานสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเทศบาลเมืองมาบตาพุด หรือ ผอ.นก หนึ่งในแกนนำวัคซีนชีวิตรุ่นแรก ถ่ายทอดการนำ EF เข้าสู่ชุมชนว่า


"พอบริษัทเขามาหาเรา เดิมเรามีแนวทางนี้อยู่แล้ว จากสถานการณ์ปัญหาแต่ละปีที่เราพบจากการคัดกรองในศูนย์สุขภาพเด็กดีและศูนย์เด็กเล็กในสังกัดเทศบาล ใน สพฐ. ในเอกชน ยิ่งทำยิ่งเจอมากขึ้น ตั้งแต่ 5% 7% เป็น 10% เลยคิดว่า จะทำอย่างไรว่าจะแก้ปัญหาตรงนี้"


เธอจึงนำอีเอฟเข้าไปอยู่ในนโยบายของหน่วยงาน ซึ่งยิ่งทำให้กิจกรรมเดินหน้ารวดเร็ว โชคดีที่มีทีมเข้มแข็ง เปิดใจพร้อมเรียนรู้ ตั้งใจ โดยเริ่มจากนำครูศูนย์เด็กเล็กในสังกัดให้รู้จักกับ EF แต่ทีมงานไม่มอง แต่ในระบบ กลับปูพรมขยายสู่โรงเรียนพ่อแม่ แกนนำสุขภาพ


"เราพยายามให้เขาได้มากกว่าวัคซีนตามแผนของกระทรวงสาธารณสุข โดยบูรณาการเรื่อง EF เข้าไป ใช้เวลาระหว่างที่ เขารอฉีดยาวัคซีน จัดกิจกรรมเหล่านี้ ใน  4 ชั่วโมง สอนวิธีการตรวจประเมินพัฒนาการ เด็กและสอนพ่อแม่ตรงนั้นด้วย เพื่อให้พ่อแม่ ทำอีเอฟกับเขาด้วยเช่นกัน"


ส่วน อัชรยา จุนทนพ หรือครูต่ายของเด็กๆ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเนินกระปรอก เทศบาลเมืองบ้านฉาง คืออีกภาคส่วนที่บทบาท สำคัญในการสร้างโอกาสให้ EF เข้าถึงตัวเด็กและเยาวชน ในฐานะแม่พิมพ์ของชาติ เธอยอมรับว่า EF ไม่ยาก แต่ต้องทำซ้ำๆ ต่อเนื่อง


"EF ไม่ใช่แค่อยู่ในโรงเรียน แต่พ่อแม่ต้อง 50 โรงเรียนต้อง 30 เราต้อง ช่วยกัน เราถึงจะพัฒนาลูกหลานของเราให้อยู่ในสังคมได้ ที่สำคัญไม่จำเป็นต้องให้รางวัลแพงๆ เพียงคำชม ทำให้เขาภูมิใจ ในตัวเขาเอง ทุกวันนี้เขามีความสุขกับ การมาโรงเรียนมาก เราสร้างให้เขามี  self esteem ขึ้นมา"


อีกหนึ่งผู้ขับเคลื่อน หมอโย ชโยธร มาคะดิลก ผู้รับผิดชอบงานพัฒนาการด้านเด็ก รพ.สต.เนินพระ ที่หลังจากเข้าอบรมอีเอฟเมื่อเดินพฤษภาคม นำแนวคิดกลับมาขับเคลื่อนโดยมี อสม.เป็นแกนนำผู้ให้ ความรู้แก่พ่อแม่


"ตัวผมเองก็มีการนำไปใช้ด้วย ผมมีลูกอยู่ในวัยสามขวบครึ่ง เราเอาอีเอฟไปใช้กับเขา แต่ก่อนอื่นก็หยิบมาใช้ปรับตัวเองก่อน ปัจจุบันลูกผมสามารถช่วยเหลือตัวเอง ในสิ่งที่เขาคิดไม่ถึง ให้เขาแต่งตัวเอง เมื่อก่อนไปห้างอยากได้ของ พอเราเอาอีเอฟใส่เขาความยับยั้งชั่งใจมีเหตุผลมากขึ้น"


ท้ายสุด ประเวท ทองเพ็ชร หรือพี่แจ้ อาสาสมัครสาธารณสุขและแกนนำชุมชน อบต.สำนักท้อน เล่าถึงวันแรกที่เข้าร่วมอบรม จนวันนี้ทั่วทั้งตำบลยกให้เขาเป็น "เซียน EF แห่งสำนักท้อน" ว่า


"ครั้งแรกที่ได้รับความรู้เรื่องนี้ เราก็คิดในใจว่ามันวิชาการล้วนๆ แต่ก็น่าจะใช้เป็นประโยชน์ได้จริง ผมทดลองกับตัวเอง และใช้กับหลานตัวเองก่อน เรานำเรื่องวินัยเชิงบวกมาใช้ ก็ทำให้เราเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นคนที่ความคิดเชิงบวกขึ้น โจทย์เราคือทำอย่างไรเราจะสื่อสารให้เป็นภาษาชาวบ้านเข้าใจง่ายและนำไปใช้ได้ ผมจะเน้นเรื่องกิจกรรมทุกกิจกรรม เราทำทุกพื้นที่ กลางหมู่บ้าน ตลาดนัด วัด ประชุม ผู้ปกครอง ศูนย์เด็กเล็กโรงเรียนอนุบาลก็ไป พอทำไปแล้วมันเกิดผลสะท้อนชัดเจน"


ครูแจ้เอ่ยทิ้งท้ายต่อว่า "EF ที่ผมเข้าใจมันคือทักษะพื้นฐานการใช้ชีวิตของ ตัวเอง เป็นกระบวนการที่ต้องลงมือทำ และทำบ่อยๆ ทำเลย แล้วมันก็จะติดจนเราโตขึ้น ที่เขาเรียกภาษาวิชาการว่า memory  working นั่นเลยครับ"

Shares:
QR Code :
QR Code