เติมรักให้เต็มใจ ร่วมดูแล “ผู้สูงวัย”
สังคมไทยต้องไม่ทอดทิ้งกัน
เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยได้ยินผู้สูงวัยในบ้านพูดว่า “แก่แล้วไม่มีอะไรดี” หรือไม่ก็ “คนแก่น่ารำคาญ” เวลาที่ตัวเองทำอะไรไม่ได้อย่างใจตน หรือทำให้คนในบ้านรำคาญเอา แต่หากลองมองแววตาของผู้สูงวัยที่กล่าวเช่นนี้ จะพบว่าคำที่เอ่ยนั้นหาใช่คำพูดว่ากล่าวตัวเองอย่างเดียวไม่ หากมี “ความน้อยใจ” เจืออยู่ในน้ำเสียงเต็มไปหมด
ผู้สูงอายุจำนวนมากถูกละเลย ถูกทอดทิ้ง ถูกกระทำรุนแรงทางจิตใจ ถูกเอาเปรียบเรื่องทรัพย์สิน บางครั้ง… ด้วยความที่เป็น “ผู้สูงอายุ” จึงอาจทำอะไรไม่ถูกใจคนรอบข้างจนพาให้เลยเถิดไปถึงขั้นถูกทำร้ายร่างกาย ทั้งที่ไม่มีเรี่ยวแรงไหวพอแม้แต่จะปกป้องตัวเอง ที่สำคัญคือ ผู้สูงอายุไทยที่ถูกกระทำรุนแรงส่วนใหญ่จะไม่บอกหรือเปิดเผยข้อมูลให้ใครรู้เพราะรู้สึกละอายว่าตนถูกกระทำจากลูกของตนเอง จึงตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า หรือถูกพบว่ามีแผล ฟกช้ำ ดำเขียว ตามร่างกายส่วนคนที่ทำร้ายก็ลืมไปว่าวันหนึ่งข้างหน้าก็ต้องอยู่ในสถานะ “ผู้สูงอายุ” เช่นกัน
สังคมไทยขึ้นชื่อเรื่อง “ความใจดี” แต่บางทีเราก็หลงดีใจไปกับสิ่งเร้ารอบข้าง หลงทุกข์ไปกับหน้าที่การงาน เงิน ความรัก ครอบครัว ฯลฯ ในขณะที่ต้องมีบทบาทในการดูแลผู้สูงอายุไปพร้อมๆ กัน ปัญหาเหล่านี้ทำให้เราตกอยู่ในสถานที่เรียกว่ามี “บทบาทเชิงซ้อน” (Sandwich Roles) จนลืมใจดีกับผู้สูงอายุในบ้าน ลืมว่าเราได้สร้างรอยยิ้มให้เกิดขึ้นบนใบหน้าที่เต็มไปด้วยริ้วรอยของกาลเวลาครั้งล่าสุดเมื่อไหร่ และจะมีสักกี่คนที่จำได้ว่าก่อนพวกท่านจะเข้าสู่วัยชรา ท่านก็เคย “ดูแล” เรามาก่อน
ปัจจุบันปีเทศไทยกำลังก้าวสู่การเป็นสังคมสูงอายุอย่างเต็มตัว โดยประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น แต่ส่วนมากต้องเผชิญปัญหาด้านสุขภาพสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในขณะที่ “ผู้ดูแล” ที่มีคุณสมบัติพร้อมดูแลผู้สูงอายุได้จริงๆ กลับมีจำนวนมากอยู่ในวัยสูงอายุเช่นกัน สิ่งเหล่านี้บ่งชี้ว่าสังคมไทยของเรากำลังขาดแคลนผู้ดูแลสูงอายุที่มีความรู้และมีศักยภาพในการรองรับการดูแลระยะยาว
สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวจึงเห็นว่าเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องจัดให้มีการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ส่วนผู้สูงอายุที่มีภาวะต้องพึ่งพิงผู้อื่นก็ควรได้รับการดูแลที่บ้าน โดยลูกหลาน ญาติ หรือการจ้างผู้ดูแลซึ่งจำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องการดูแลผู้สูงวัยอย่างถูกวิธีทั้งทางร่างกายและจิตใจ และเนื่องจากไทยเราเป็น “สังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน” ภาคประชาสังคมจึงมีบทบาทสำคัญต่อการช่วยเหลือเช่นกัน โดยที่ผ่านมามีสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้น เช่น โครงการอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ (อผส.) ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือในส่วนของภาคเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร เช่น สมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ ที่ได้จัดทำโครงการ “เพื่อนช่วยเพื่อน” ซึ่งเป็นการจัดอบรมให้สมาชิกชมรมผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ในชุมชน เป็นต้น
ปัจจุบันภาคประชาสังคมมีชมรมผู้สูงอายุที่เข้มแข็งเป็นแกนนำ มีบทบาทสำคัญในการเกื้อหนุนช่วยเหลือเผื่อแผ่ระหว่างผู้สูงอายุด้วยกัน จึงถือเป็นการ “เติมเต็มให้กัน” โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับครอบครัว ชุมชน และมีศักยภาพที่จะจัดการดูแลผู้สูงอายุที่ประสบภาวะพึ่งพิง สามารถพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุที่ช่วยตัวเองไม่ได้ เช่น สนับสนุนงบประมาณด้านกิจกรรมพื้นฐานในชีวิตประจำวัน จัดหาอุปกรณ์การฟื้นฟูการเดินทาง ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม รวมทั้งพัฒนาระบบที่เชื่อมต่อกับการดูแลในสถาบันสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลในระดับที่สูงขึ้น ครอบครัวไม่สามารถให้การดูแลได้หรือไม่มีผู้ดูแลโดยมีการพัฒนากลไกและมาตรฐานการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุในสถาบันทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
ล่าสุด แผนงานวิจัยพื้นฐานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ (มส.ผส.) ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ก็ได้จัดกิจกรรมเสวนาเรื่อง “สังคมไทยกับความรุนแรงต่อผู้สูงอายุ: มุมมองที่มากกว่าความสงสารและบริจาค” เพื่อกระตุ้นเตือนคนในสังคมให้ตระหนักรู้และมีทัศนคติที่ดีต่อบทบาทของผู้สูงอายุในครอบครัว พร้อมการแสวงหาหนทางในการจัดการปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ
วันนี้ เราทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเหลือผู้สูงอายุได้โดยเริ่มต้นจากการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านด้วยความรัก ด้วยหัวใจเพื่อเติมเต็มรอยยิ้มที่ขาดหายไป ซึ่งจะช่วยให้สังคมเป็นสังคมแห่งความสุขอย่างแท้จริง
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
Update 12-11-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์