เตรียมรับมือสังคมสูงวัย

ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


เตรียมรับมือสังคมสูงวัย thaihealth


ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 เพราะมีสัดส่วนของประชากรกลุ่มผู้สูงอายุถึงร้อยละ 10.38 ของประชากรทั้งประเทศ และยังมีแนวโน้มว่าเพิ่มสูงขึ้นจนกลายเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super Aged Society) ในปี พ.ศ.2573


คำถามสำคัญการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยนี้ ไทยได้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวหรือยัง ด้านสุขภาพ : คนไทยมีพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจ : ขาดแคลนวัยแรงงาน


ในร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560 – พ.ศ.2564) บ่งชี้สถานการณ์ประเทศไทยว่า การพัฒนาประเทศไทยในช่วงแผนฯ นี้อยู่ในห้วงเวลาของการปฏิรูปประเทศ เพื่อแก้ปัญหาพื้นฐานหลายด้านที่สั่งสมมานาน ในการวิเคราะห์สถานการณ์ของแผนดังกล่าวยังได้สะท้อนถึงอีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญและเป็นข้อจำกัดต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ของไทย คือการที่คนไทยส่วนใหญ่ยังมีพฤติกรรมและปัจจัยแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการทำลายสุขภาพ จนทำให้ประชากรที่เจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มมากขึ้น และเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อ เนื่องจากมีพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสมและขาดการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ได้แก่ การมีการศึกษาและรายได้น้อยทำให้ขาดความรู้ ความเข้าใจ และทางเลือกในการดำเนินชีวิต อาทิ ความเสี่ยงในการบริโภคอาหารไม่ปลอดภัย การผจญกับปัญหามลพิษในอากาศ และการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน


ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ศักยภาพทางเศรษฐกิจและสภาพทางสังคมในด้านต่างๆ ด้วยเพราะการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมสูงวัยมากขึ้นตามลำดับและจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์เมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 โดยที่สัดส่วนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 19.8 ของประชากรทั้งหมด โดยที่จำนวนประชากรวัยแรงงานเริ่มลดลงมาตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในภาวะที่ผลิตภาพแรงงานไทยก็ยังต่ำเนื่องจากปัญหาคุณภาพแรงงาน ความล่าช้าในการพัฒนาเทคโนโลยี และปัญหาการบริหารจัดการจึงเป็นข้อจำกัดในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและศักยภาพการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งการสร้างรายได้และการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วย


อย่างไรก็ตามโดยหลักการสำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาระยะยาวตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หลักการข้อหนึ่งคือข้อ 2. ยึด “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” มุ่งสร้างคุณภาพชีวิตและสุขภาวะที่ดีสำหรับคนไทย พัฒนาคนให้มีความเป็นคนที่สมบูรณ์มีวินัย ใฝ่รู้ มีความรู้ มีทักษะ มีความคิดสร้างสรรค์ มีทัศนคติที่ดี รับผิดชอบต่อสังคม มีจริยธรรมและคุณธรรม พัฒนาคนทุกช่วงวัยและเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ


ดังนั้น มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้จัดเวทีวิชากรเรื่อง “เตรียมพร้อมรับมือสังคมสูงวัยเต็มรูปแบบหรือยัง” เพื่อนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางในการสร้างความตระหนักรู้ในการเตรียมตัวด้านสุขภาพของประชากรทุกช่วงวัย และการสร้างเสริมศักยภาพของผู้สูงอายุในสถานการณ์ดังกล่าว ตลอดจนข้อเสนอแนะต่อการปรับเปลี่ยนในเชิงนโยบายด้านการส่งเสริมสุขภาพ การเรียนรู้ตลอดชีวิต และแนวทางการส่งเสริมการทำงานของแรงงานสูงวัยเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงอายุของประเทศไทยต่อไปในอนาคต

Shares:
QR Code :
QR Code