เตรียมรับมือภัยปีใหม่! ‘แพทย์ฉุกเฉิน’
‘ฮีโร่‘ สู้ 7 วันอันตราย
ใกล้ “เทศกาลปีใหม่” เข้ามาทุกขณะแล้ว ระยะนี้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็เริ่มออกมาดำเนินการ-ออกมารณรงค์เรื่อง “ความปลอดภัย” ในช่วงปีใหม่ เพราะที่ผ่าน ๆ มาช่วงเทศกาลปีใหม่ทุกปีจะเป็นอีกช่วงที่ประชาชนเจ็บป่วย-บาดเจ็บ-เสียชีวิตกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งสาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือ “อุบัติเหตุ”
แต่ละปีคนไทยต้องสูญเสียเพราะอุบัติเหตุจำนวนมาก
และกลไกที่จะช่วยกอบกู้ในเรื่องนี้คือ “แพทย์ฉุกเฉิน”
ทั้งนี้ จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข การเสียชีวิตจากสาเหตุอุบัติเหตุของไทยสูงเป็นอันดับ 2 ของสาเหตุทั้งหมด โดยอันดับ 1 คือโรคหัวใจและหลอดเลือด อันดับ 3 คือโรคมะเร็ง ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรเฉลี่ยวันละกว่า 30 คน และช่วง 7 วันอันตรายส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ตัวเลขยิ่งสูงจากช่วงปกติ อย่างปีที่ผ่านมามีผู้บาดเจ็บ 4,107 คน เสียชีวิต 367 คน หรือเฉลี่ยแล้วเสียชีวิตวันละกว่า 50 คน ขณะที่ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการเสียชีวิต-พิการของคนไทยจากอุบัติเหตุ สูงทะลุเกินกว่า 2 แสนล้านต่อปีนานแล้ว
“เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต และความพิการ ซึ่งหมายรวมถึงการลดความสูญเสียทั้งระบบ จำเป็นที่ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินจะต้องมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา” …นี่เป็นกลไกที่สำคัญยิ่ง
ปัจจุบันมีการจัดตั้ง สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ศูนย์นเรนทร สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มีการพัฒนาขีดความสามารถสถานพยาบาล ทำแผนรองรับผู้ป่วย อุบัติเหตุ ตั้งศูนย์อุบัติเหตุ (
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาในจุดนี้ก็ยังมีปัญหาติดขัด ดังที่ นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ระบุว่า…ทางบอร์ดสถาบันฯ อนุมัติให้มีการผลิต แพทย์เฉพาะทางด้าน เวชศาสตร์ฉุกเฉิน เพิ่ม 20 ตำแหน่งต่อปี เพื่อประจำในโรงพยาบาล ศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป อย่างน้อยแห่งละ 3 คน ภายในปี 2553 ซึ่ง ปัจจุบันมีแพทย์สาขานี้ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศแค่ 130 คน ซึ่งถือว่าน้อยมาก !!
นพ.เอกกิตติ์ สุรการ ผู้อำนวยการศูนย์อุบัติเหตุกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ความเห็นว่า…นอกจากการแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินแล้ว เมืองไทยยังจำเป็นต้องพัฒนาความรู้และระบบบริการการแพทย์อุบัติเหตุอย่างเร่งด่วนด้วย ซึ่ง ยุคปัจจุบันรูปแบบการเกิดอุบัติเหตุมีความซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้นตามสภาพแวดล้อมทางสังคม เศรษฐกิจ และธรรมชาติ ที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากอุบัติเหตุจราจร ทั้งเพราะเมาและปัจจัยอื่น ๆ แล้ว ยังอาจจะเกิดเหตุใหญ่อื่น ๆ เช่นเพลิงไหม้ซานติก้าผับ หรือเกิดภัยธรรมชาติ เช่นเกิดคลื่นยักษ์สึนามิถล่มชายฝั่งอันดามัน ซึ่งเมื่อเหตุเกิดช่วงปีใหม่ก็ยิ่งเป็นปัญหาใหญ่
“การเสียชีวิตของผู้ประสบอุบัติเหตุแบ่งได้ 3 กลุ่มคือ… 1. เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ ซึ่งคิดเป็นกว่า 50%, 2. เสียชีวิตภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังประสบเหตุ คิดเป็น 25% การป้องกันคือต้องมีการปฐมพยาบาลในที่เกิดเหตุอย่างถูกต้อง และนำส่งสถานพยาบาลที่มีขีดความสามารถอย่างเร่งด่วน, 3. พ้นขีดอันตรายในระยะแรก แต่เสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนในภายหลัง กลุ่มนี้ต้องการการดูแลจากแพทย์เวชบำบัดวิกฤติ และทีมแพทย์ที่เชี่ยวชาญแต่ละสาขา เพื่อ แก้ปัญหาเฉพาะระบบ”…แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบุ พร้อมทั้งบอกว่า…..
“การเตรียมพร้อมเพื่อรักษาชีวิตผู้ประสบอุบัติเหตุ จำเป็นต้องสร้างฐานความรู้ให้ทุกฝ่าย ตั้งแต่ปฐมพยาบาล คัดกรองผู้ป่วยเพื่อนำส่งสถานพยาบาลที่เหมาะสม ประสานโรงพยาบาลเครือข่าย เพื่อกระจายผู้ป่วย การรักษาร่วมกันโดยทีมสหสาขาวิชาชีพเพื่อฟื้นฟู สภาพผู้ป่วยให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ขณะที่การนำส่ง ผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว และปลอดภัย ก็สำคัญ” …นพ.เอกกิตติ์ทิ้งท้าย
ทั้งนี้ การรักษาผู้ป่วยอุบัติเหตุให้ทันท่วงทีนั้นจำเป็นมาก ซึ่งหน่วยเวชศาสตร์ของโรงพยาบาลที่ นพ.เอกกิตติ์สังกัดก็เป็นตัวอย่างความพร้อมในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยวิกฤติ 24 ชั่วโมง โดยเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์การแพทย์ฉุกเฉิน ห้องอภิบาลหัวใจเคลื่อนที่ มอเตอร์ไซค์ฉุกเฉิน หรือแม้แต่โดยสปีดโบ๊ต และเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่นี่ก็ยังมี การประชุมวิชาการด้านมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุ (Bangkok Trauma Day 2009) ด้วย
ทางด้าน นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย ผู้ช่วยเลขาธิการสถาบัน การแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ระบุถึงเรื่อง “การแพทย์ฉุกเฉิน” ของไทย ในภาพรวมว่า…“ปัจจุบันมีระบบการช่วยเหลือฉุกเฉิน ตั้งแต่จุดเกิดเหตุ รักษาพยาบาลระหว่างนำส่งโรงพยาบาล จนถึงโรงพยาบาล ซึ่ง เป็นอีกก้าวของบริการแพทย์ฉุกเฉินในประเทศไทย โดยผู้ประสบเหตุสามารถขอความช่วยเหลือได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1669”
ลดลงให้ได้ไม่น้อยกว่า 10% จากปีก่อนหน้าคือเป้าใหม่
กับ “7 วันอันตราย” ส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ที่จะถึง
หวังว่า “การแพทย์ฉุกเฉิน” คงมีงานน้อยลง…ได้จริง !!.
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
Update:21-12-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่