เตรียมมาตรการรับมือฝุ่น PM2.5

ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า


เตรียมมาตรการรับมือฝุ่น PM2.5 thaihealth


แฟ้มภาพ


ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 มลพิษทางอากาศ ภัยเงียบที่ส่งผลต่อสุขภาพของคนกรุงเทพ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมหามาตรการป้องกันปัญหา ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นอีกช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี


พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงานว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักสิ่งแวดล้อมสำนักอนามัย สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการควบคุมปัญหามลพิษทางอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อเตรียมความพร้อมและติดตามเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่จะสูงขึ้นในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี


เบื้องต้นจะมีมาตรการลดปริมาณฝุ่นละออง โดยสำนักสิ่งแวดล้อมร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่ และกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) ตรวจจับรถควันดำในพื้นที่เขตที่มีมลพิษสูง สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับสำนักงานเขต เข้มงวดไม่ให้มีการเผาในที่โล่งทุกชนิด สำนักการโยธา ร่วมกับสำนักงานเขต สเปรย์ละอองน้ำบริเวณที่ก่อสร้างทุกประเภท ในทุกโครงการของภาครัฐและภาคเอกชน นอกจากนี้จะมีมาตรการลดผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละออง โดยสำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักงานเขต เพิ่มความถี่ของการล้างทำความสะอาดถนนทุกสาย สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการโยธา และสำนักงานเขต ร่วมกับภาคเอกชน


จัดทำสเปรย์พ่นละอองฝอยจากอาคารสูงทั่วพื้นที่สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ และสำนักงานเขตออกหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่ให้บริการตรวจสุขภาพ และให้ความรู้ในการดูแลรักษาสุขภาพและป้องกันตนเองจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และร่วมกันรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่ และเข้มงวดตรวจสอบสถานประกอบการ กวดขันการเผาหญ้า และขยะเพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองในพื้นที่ให้มากที่สุด


หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในพื้นที่ที่ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน พร้อมทั้งใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพของตนเอง ทั้งนี้ได้เน้นย้ำการจัดทำแผนดังกล่าว จะต้องไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ และให้นำแผนดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมในวันที่ 16 ตุลาคมนี้ เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

Shares:
QR Code :
QR Code