เตรียมพร้อมชุมชน กทม. ปลอดอัคคีภัย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
เหตุเพลิงไหม้รุนแรงบ้านเรือนประชาชนในกรุงเทพฯ คนวิ่งหนีตาย มีทั้งคนเจ็บและผู้เสียชีวิต ไฟเผาวอดทั้งหลัง เป็นข่าวคราวที่เกิดถี่ขึ้นในสังคม บางกรณีอัคคีภัยสร้างความสูญเสียยากเกินทำใจ คนในครอบครัวจากไปกับกองเพลิง
เพื่อให้ความรู้กับประชาชนและสร้างความตระหนักความสำคัญของปัญหาอัคคีภัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และมูลนิธิสื่อสังคม ผนึกกำลังร่วมรณรงค์ป้องกันเพลิงไหม้ โดยจัดทำสื่อรณรงค์ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ ภายใต้แนว คิด "ยิ่งรู้รอด ปลอดอัคคีภัย" โดยจะนำไปเผยแพร่ผ่านเครือข่ายและช่องทางของ สสส. กทม. และมูลนิธิสื่อสังคม พร้อมทั้งจัดอบรมเข้มข้นทั้งในชุมชน อาคารสูง และบ้านเรือน
วิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า เพลิงไหม้เกิดได้ง่ายและบ่อยครั้ง ส่วนใหญ่สาเหตุเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรและความประมาท ปัจจุบันปัญหาอัคคีภัยในกรุงเทพฯ เสี่ยงสูงขึ้น เพราะมีอาคารสูงและคอนโดฯ สร้างมากขึ้น รวมถึงมีความรุนแรง ปีนี้มีไฟไหม้ชุมชนตากสินวอด 23 คูหา ไฟไหม้ทาวน์โฮมย่านรามคำแหง แล้วยังมีอาคารย่านสำเพ็งไฟไหม้ลุกลามติดชุมชมใกล้เคียง หรือแม้แต่ลานจอดรถในห้างดังย่านบางแคก็เกิดอัคคีภัย
"สสส.มีแผนจัดการความปลอดภัยและปัจจัยเสี่ยงต่อสังคม เน้นส่งเสริมความรู้ที่เหมาะสมด้านภัยพิบัติสาธารณะ การเตรียมพร้อมและป้องกันอัคคีภัยภาคปฏิบัติกับประชาชน เป้าหมายลดอัตราเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคนไทย ต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการป้องกันระงับอัคคีภัย และปฏิบัติตนให้ปลอดภัยเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ มีภาคีหลัก คือ มูลนิธิสื่อสังคม ขับเคลื่อนร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. และสมัชชาสภาองค์กรชุมชนภาคกรุงเทพฯ มาต่อเนื่อง ปีนี้จัดทำสื่อโปสเตอร์และสื่อออนไลน์ ยิ่งรู้รอด ปลอดอัคคีภัย สื่อสารรูปแบบใหม่ กระตุ้นให้ชุมชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม" วิเชษฐ์กล่าว และย้ำใช้สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาผลักดัน พร้อมให้องค์ความรู้เป็นสำคัญ
ชุมชนเมืองขยายตัว ปัญหาไฟไหม้ต้องร่วมป้องกัน วันชัย ถนอมศักดิ์ รองปลัดกรุงเทพ มหานคร กล่าวว่า ในปี 2558 กรุงเทพฯ มี 1,800 ชุมชน ปัจจุบันเพิ่มเป็น 2,003 ชุมชน จากการอพยพเคลื่อนย้ายของคนมาทำงานในกรุงเทพฯ จำนวนบ้านเรือนที่มากขึ้นเป็นอุปสรรคในการจัดระเบียบ พบสาเหตุไฟไหม้จากไฟฟ้าลัดวงจร ปี 58 จำนวน 646 ครั้ง ปี 59 จำนวน 681 ครั้ง ปี 60 จำนวน 783 ครั้ง ส่วนปี 61 ใน 4 เดือนแรก จำนวน 137 ครั้ง แนวโน้มอัคคีภัยในชุมชนลดลง 25% แต่ยังไม่เพียงพอต่อความปลอดภัย
"การจับมือรณรงค์ป้องกันอัคคีภัยในครั้งนี้ สื่อต่างๆ จะถ่ายทอดความรู้และแนวทางปฏิบัติไปยังครอบครัว เพื่อนบ้านในชุมชนเพื่อป้องกันเพลิงไหม้ ให้หมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า สายไฟฟ้า ให้อยู่ในสภาพปลอดภัย เลือกใช้ปลั๊กพ่วงที่มีคุณภาพได้มาตรฐานอุตสาหกรรม และไม่ควรใช้ปลั๊กพ่วงต่อพ่วงกันหลายเส้น เพราะเป็นเหตุให้เกิดไฟไหม้ในชุมชนมาต่อเนื่อง รวมถึงชุมชนต้องมีความรู้ในการระงับอัคคีภัยเบื้องต้นเป็นอันดับแรก ไม่ใช่หนีตายหรือขนของกันวุ่น" รองปลัด กทม.กล่าว
ภาคีหลักอย่าง พ.ต.ท.บุญเรือง แสงดาว ที่ปรึกษามูลนิธิสื่อสังคม กล่าวว่า การขับเคลื่อนงานป้องกันอัคคีภัยทำผ่านระบบเขตและชุมชน เน้นอบรมและพัฒนาศักยภาพชุมชนเชิงรุก โดยมี 3 ขั้นตอน ให้ความรู้และการปฏิบัติในการดับเพลิงขั้นต้น ช่วยให้ความสูญเสียลดลง จัดทำแผนป้องกันอัคคีภัย ทางมูลนิธิจะเดินเท้าตรวจเยี่ยมพื้นที่หาจุดอ่อน พร้อมให้คำแนะนำแก้ไข และเรียนรู้วิธีปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน แผนที่ชุมชน เส้นทางอพยพ จุดรวมพล กลุ่มอ่อนแอต้องช่วยเหลือก่อน ความรู้เหล่านี้สามารถใช้กับภัยพิบัติอื่นๆ ได้ด้วย
"เป้าหมายจะจัดอบรมให้ชุมชน รวมถึงผู้สูงอายุที่ต้องเฝ้าบ้าน เมื่อเกิดเหตุมักสูญเสีย ถ้าใช้ถังดับเพลิงเป็นก็รอดชีวิตได้ จากการติดตามผลชุมชนที่ผ่านอบรม พบว่า เมื่อเกิดเหตุระงับได้ไม่มีไฟไหม้รุนแรง การฟื้นคืนชีพให้ชุมชนมีความรู้เบื้องต้น ลดสถิติการตาย แต่ละเขตใน กทม.ต้องทำงานให้ทั่วถึง" พ.ต.ท.บุญเรืองย้ำเป้าหมายอย่างจริงจังในตอนท้าย