เตรียมบ้านประชารัฐ รับสังคมสูงวัยไทย

ที่มา : คมชัดลึก 


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


เตรียมบ้านประชารัฐ รับสังคมสูงวัยไทย thaihealth


ปรับปรุง-ซ่อม-สร้าง เตรียมบ้านประชารัฐ รับสังคมสูงวัยไทย


เดินหน้าอย่างต่อเนื่องกับโครงการประชารัฐเพื่อสังคม สร้างความเท่าเทียมทั่วถึง ของประชาชนคนไทย หนึ่งในนั้นคือการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุอย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม และอัตลักษณ์ของสังคมไทยรองรับสถานการณ์การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย ที่จะมีจำนวนผู้สูงอายุร้อยละ 20 ของประชากรไทยทั้งประเทศในอีก 4 ปีข้างหน้านี้ การเตรียมความพร้อมรับมือจึงเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายตระหนักและร่วมมือกันสร้างเส้นทางแห่งความมั่นคงให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพจนกระทั่งลมหายใจสุดท้าย


รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุและ คนพิการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคมด้านที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม เพื่อการอยู่อาศัย เปิดเผยว่า จากการทำวิจัยและสำรวจของหน่วยปฏิบัติการวิจัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุและคนพิการ จุฬาฯ มากว่า 8 ปี พบแนวทางที่มาสำคัญในขณะนี้คือ ผู้สูงอายุในประเทศไทยเราควรจะอาศัยอยู่แหล่งที่เดิมร้อยละ 80-90  ไม่ว่าจะเป็น การปรับปรุงบ้าน การรื้อบ้าน และการสร้างบ้าน บนที่ดินเดิม นโยบายตามแนวทางประชารัฐเพื่อสังคมด้านที่อยู่อาศัยฯ ที่จะดำเนินการในช่วงแรกคือ การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุอยู่ในบ้านเดิม ชุมชนเดิมให้นานที่สุด รวมทั้งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องส่งแพทย์หรือบุคลากรด้านสาธารณสุขไปดูแลที่บ้าน เรียกว่า Home health care รวมถึงองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นเจ้าหน้าที่พัฒนาสังคม ส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ซึ่งรูปแบบการให้ผู้สูงอายุอาศัย อยู่ที่เดิม และส่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลจะยั่งยืน และประเทศไทยมีการพิสูจน์แล้วว่า ให้ประชาชนช่วยดูแลกันเองสำเร็จมาหลายชุมชน จึงยึดแนวทางนี้เป็นแนวทางหลั


"ในระยะควิกวิน (Quick Win) ประชารัฐเพื่อสังคมด้านที่อายู่อาศัยฯ นี้หน่วยปฏิบัติการวิจัยฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บริษัท SCG จำกัด กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ (พม.) และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ดำเนินโครงการในระยะแรกมีการวางแผนในการซ่อมแซม ปรับปรุงบ้านผู้สูงอายุ ในท้องถิ่นที่จังหวัดลำปาง โดยมีเป้าหมายในการปรับปรุงบ้านเดิมของผู้สูงอายุให้มีความปลอดภัย จำนวน 20 หลัง ตามงบประมาณหลังละ 20,000 บาท ตั้งเป้าให้แล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2560 นี้ โดยอาศัยตัวอย่างการปรับปรุงบ้านตามโครงการนำร่องที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากจากเทศบาลตำบลหนองตองพัฒนา อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ปรับปรุงที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุ จัดหาอุปกรณ์ช่วยผู้สูงอายุ และปรับปรุงสภาพแวดล้อมสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งการปรับปรุงบ้าน ในพื้นที่ชนบทจะไม่มีแบบบ้าน แต่มีตัวอย่างการปรับบ้านนำร่องตามความต้องการและการใช้งานที่ เหมาะสม โดยมีแนวทาง อาทิ  การติดตั้งราวจับ ซึ่งเป็นวัสดุที่เหมาะสมกับท้องถิ่นเป็นสำคัญ" รศ.ไตรรัตน์ กล่าว


เตรียมบ้านประชารัฐ รับสังคมสูงวัยไทย thaihealth


รศ.ไตรรัตน์ กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ทีมวิจัยฯ ยังได้พัฒนาแบบบ้านสำหรับผู้สูงอายุที่ใช้ชีวิตในสังคมเมืองเป็นส่วนใหญ่ เพื่อตอบสนองความต้องการและการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกันของผู้สูงอายุ และยังเป็นศูนย์กลางรวบรวมแบบบ้านทุกแบบเพื่อคนทุกคนที่หน่วยงานต่างๆ จัดทำไว้ สามารถนำไปใช้ตามสถานภาพของแต่ละคน ทั้งด้านร่างกาย เศรษฐกิจ สังคมที่เหมาะสมและเนื่องจากเรามีองค์ความรู้การปรับปรุงบ้านในชนบท แบบบ้านผู้สูงอายุในเมือง มีอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานแล้ว อนาคตอันใกล้นี้จำเป็นต้องมีกลไกสำคัญในระยะกลางตามโครงการประชารัฐ คือ มีศูนย์อบรมให้ความรู้เรื่องนี้ โดยศูนย์เรียนรู้และพัฒนาองค์ความรู้ Universal design (UD center) เป็นที่รวบรวมของข้อมูลทั้งหมด กระจาย 4 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ-มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาคกลาง-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาคใต้-มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภาคอีสาน-มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ศูนย์ได้ อาทิ ปรับปรุงบ้านชนบท แบบบ้านคนเมือง ตัวอย่างวัสดุ มีบุคลากรที่ให้ความ เช่น สถาปนิก อาจารย์คณะสถาปัตยกรรม ที่ให้ความรู้ ให้คำปรึกษาได้ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่าง ดำเนินการให้เกิดขึ้น


นอกจากนี้ ผศ.ชุมเขต แสวงเจริญ หัวหน้าหน่วยวิจัยและออกแบบเพื่อคนทั้งมวล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคมด้านที่อยู่อาศัยฯ กล่าวว่า นอกจากแผนควิกวินแล้ว ตามโครงการประชารัฐเพื่อสังคมด้านที่อยู่อาศัยฯ ยังได้มีการพัฒนามาตรการในระยะกลางถึงระยะยาว ประชารัฐเพื่อสังคมด้านที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม เพื่อการอยู่อาศัยโดยก.พม. สสส.ร่วมกับหน่วยวิจัยและออกแบบเพื่อคนทั้งมวล ม.ธรรมศาสตร์ โดยมีการสำรวจและอยู่ระหว่างการจัดรับฟังความคิดเห็น ในวันที่ 26 พฤษภาคม เนื่องจากการดูแลพัฒนา ปรับปรุงสภาพแวดล้อมเพื่อที่อยู่อาศัยฯอาจไม่สามารถดำเนินงานทั้งหมดเสร็จภายใน 2 ปี จึงต้องมีแผนระยะยาวสำหรับ 5-20 ปี ประกอบด้วย 3 ประเด็นหลัก คือ 1. ประเด็นเศรษฐกิจการเงินได้สำรวจและสรุปข้อเสนอแนะสำหรับการจัดทำสินเชื่อการตลาด การออม ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อด้านที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ  เช่น เงินกู้ยืม สร้างความตระหนักในการออมทุกช่วงวัย เพราะความมั่งคงของที่อยู่อาศัยต้องตระหนักถึงการออมตั้งแต่เด็ก ส่งเสริมนโยบายกองทุน เพื่อผู้สูงอายุ ที่มีรายได้น้อย ที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อปกติได้  ทบทวนนโยบายด้านการเงินและภาษีของผู้สูงอายุ ตามเงื่อนไขที่มีเวลาผ่อนชำระน้อยกว่าคนทั่วไป


อาจารย์ชุมเขต กล่าวต่อว่า ประเด็นต่อมาคือ นโยบายด้านสังคม ที่อยู่อาศัยที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสังคม การมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักพื้นฐานของมนุษย์เพราะฉะนั้นทำอย่างไรจะทำให้เกิดการเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้อย่างเท่าเทียม ก.พม. ตั้งเป้า 10 ปีข้างหน้า ทุกคนต้องมีบ้าน แต่รูปแบบของคำว่า บ้านต้องมีความหลากหลาย เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของคนแต่ละยุค ส่วนหนึ่งมองว่าการที่ผู้สูงอายุได้อยู่อาศัยในที่อยู่เดิมจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ใครเคยอยู่ตรงไหนก็ให้อยู่ตรงนั้น อย่าให้ผู้สูงอายุต้องพลัดพรากจากถิ่นที่เคยอยู่ การปรับบ้านเพิ่มพื้นที่ในชุมชน รวมถึงการทำชุมชนให้สามารถดูแล ตอบสนองผู้สูงอายุได้ ตามหลักการสำคัญได้แก่ ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุอยู่อาศัยในถิ่นที่เดิม สนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีการทำงานที่บ้านได้ มีงานเท่ากับได้ใช้ ความคิด ไม่หยุดนิ่ง ชะลอความเสื่อมโทรมของร่างกายลงได้ ส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง เป็นชุมชนที่เอื้อเฟื้อดูแลกันได้ รวมทั้งระบบขนส่งสาธารณะต้องเอื้ออำนวยให้เข้าถึงบริการต่างๆที่ผู้สูงอายุต้องการ อาทิ เดินทางไปโรงพยาบาล ตลาด วัดฯลฯ


"สิ่งสำคัญคือการนำเอาองค์ความรู้ ทฤษฎีที่มีอยู่เดิมไปปรับพื้นที่ ที่เดิมให้ผู้สูงอายุอยู่ได้อย่างมีความสุข บางทีเคยอยู่บ้านใต้ถุนโล่ง ชั้นสอง นี่ความท้าทายของโจทย์ที่ทำอย่างไรผู้สูงอายุจะอยู่ชั้นสองได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งประเด็นสุดท้ายคือ ข้อเสนอแนะสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะ จะต้องทำบ้านที่อยู่อาศัย เรื่องของมาตรฐานบ้าน มาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่จะนำไปใช้ในบ้าน มาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่ชุมชนท้องถิ่นใช้ได้ ที่ไม่ใช่ในเมืองใช้ รูปแบบของบ้าน ที่อยู่อาศัยสอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ" ผศ.ชุมเขต กล่าวทิ้งท้าย


แม้ว่าทั้งหมดจะเป็นระยะต้นของการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมเพื่อการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุ แต่ถือเป็นการเริ่มต้นเส้นทางก้าวไปสู่ความพร้อมในการดูแลผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน ทั้งการดูแลระยะเร่งด้วยให้ผลทันที จนไปถึงการเตรียมรากฐานความมั่นคงทางเศรษฐกิจสังคมในระยะยาวต่อไป โครงการประชารัฐเพื่อสังคมจึงเป็นอีกโอกาสในการดูแลทุกคนทุกกลุ่มวัยอย่างเท่าเทียม ให้ประเทศไทยมีรากฐานมั่นคง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

Shares:
QR Code :
QR Code