เตรียมทัพ รับมือ Cyberbullying
เรื่องโดย ฐิติพร โยทาพันธ์ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลบางส่วนจาก งานเสวนาออนไลน์ “การรับมือกับสถานการณ์การระรานทางออนไลน์ของเด็กไทย (Cyberbullying)”
ภาพโดย ชยวี ลิ้มถาวรรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
“ทำไมอ้วนจัง ไม่เห็นสวยเหมือนในรูปเลย”
“หน้าตาขี้เหร่ แต่ดันอยากสวย ไม่ดูตัวเองเลย”
“ทำไมหน้าตาดูบ้านนอกจังอ่ะ 555”
รู้หรือไม่คำพูดเหล่านี้ อาจเป็นอาวุธร้ายที่สามารถ “ฆ่า” คนคนหนึ่งได้ โดยที่คนพูดอาจไม่รู้สึกอะไร เพียงเพราะแค่ “สนุกปาก” เท่านั้น การถูกระรานทางออนไลน์เปรียบเสมือนมหันตภัยที่คร่าชีวิตผู้คนไปหลายราย โดยเฉพาะในสังคม Social Media และที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ การระรานทางออนไลน์ในเด็กและเยาวชน
หากถามว่าเพราะอะไรปัญหาการระรานทางออนไลน์ หรือ การบูลลี่ ในเด็กและเยาวชนถึงเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็วที่สุด จากผลการสำรวจพบว่า เด็กมัธยมไทยกว่า 20% โดนบูลลี่ 35% ไประรานผู้อื่นต่อ 1 ใน 3 รู้สึกสะใจ-เท่ ผู้ตกเป็นเหยื่อจิตตก-เศร้า-อยากแก้แค้น ร้อยละ 17.26 อยากฆ่าตัวตาย ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการจัดงานเสวนาในหัวข้อ “การรับมือกับสถานการณ์การระรานทางออนไลน์ของเด็กไทย (Cyberbullying)” เป็นการร่วมมือกันระหว่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) รวมถึงภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องนำทัพจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่ครอบคลุมมิติต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาเพื่อเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อพิจารณาต่อไป
ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก รองประธานคณะทำงานเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อสำหรับเด็กและเยาวชน วุฒิสภา และนายกสมาคม สสดย. กล่าวว่า เวทีนี้จัดขึ้นเพื่อนำเสนอรูปแบบการเฝ้าระวังและเตรียมการรับมือ กับสถานการณ์การระรานทางออนไลน์ของเด็กไทย พร้อมขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดข้อเสนอเชิงนโยบายต่อวุฒิสภา และนำไปสู่การสานพลังแนวร่วมทุกภาคส่วนในการร่วมกันแก้ไขปัญหาการถูกระรานทางออนไลน์ให้เกิดผลมากที่สุด เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับเด็กและเยาวชน
“การทำให้บุคคลสามฝ่าย คือ ผู้ระราน ผู้ถูกระราน และผู้รับรู้การระราน ได้ตระหนักถึงปัญหาร่วมกัน และเข้าใจผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแต่ละฝ่าย โดยผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ จะช่วยให้สามารถบรรเทาสถานการณ์ปัญหา และหาทางออก เพื่อให้ทุกฝ่ายในโลกออนไลน์อยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุขมากยิ่งขึ้น” ดร.ธีรารัตน์ กล่าว
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า การถูกระรานทางออนไลน์ถือเป็นมหันตภัยทางออนไลน์ที่กลับพบเห็นได้ทั่วไป ผู้เป็นเหยื่อมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตจนเกิดปัญหาในการดำเนินชีวิตและสุขภาพตามมา
“ปัญหาการถูกบูลลี่ผ่านโลกออนไลน์ในเด็กและเยาวชน เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ สสส. และคณะทำงานร่วมกันผลักดันในการทำข้อมูลในเชิงวิชาการและผลักดันไปสู่นโยบาย เพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง และเกิดประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชนอย่างแท้จริง ซี่งสิ่งที่ สสส. และ สสดย. ร่วมกันจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่ครอบคลุมมิติต่าง ๆ เสนอต่อวุฒิสภามี ดังนี้ 1.ระบบการป้องกันปัญหา สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กก่อนอายุ 13 ปี 2.ระบบการช่วยเหลือและเยียวยาเด็กที่ได้รับผลกระทบ มีมาตรการทางกฎหมาย และแนวทางการทำงานที่จะสามารถช่วยเหลือเหยื่อได้
3.พัฒนาองค์ความรู้และการสื่อสารในสังคม
และ 4.หน่วยงานกลางที่มีความยืดหยุ่นเป็นศูนย์กลางในการดูแลเด็กและเยาวชนอย่างเป็นองค์รวม ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาวะทางปัญญา พัฒนาทักษะการเป็นผู้ใช้และสร้างสรรค์สื่อที่มีความรอบรู้ เท่าทัน ควบคู่ไปกับการร่วมสร้างระบบนิเวศสื่อสุขภาวะ” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
ภายในงานยังได้แนะแนวทางกับการรับมือการถูกระรานทางออนไลน์ในหัวข้อ “ทักษะ 8 ประการ สร้างความฉลาดทางดิจิทัลของเด็กยุคใหม่” อีกด้วย มีอะไรบ้างมาดูกัน
1.ทักษะในการรักษาอัตลักษณ์ที่ดีของตนเอง (Digital Citizen Identity): สอนให้เด็กจัดการตัวตนและชื่อเสียงออนไลน์ รับผิดชอบต่อการกระทำบนโลกออนไลน์
2.ทักษะในการจัดสรรเวลาหน้าจอ (Screen Time Management): สอนให้ใช้เวลาออนไลน์พอเหมาะพอดี ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ
3.ทักษะในการรับมือกับการคุกคามทางโลกออนไลน์ (Digital Safety Management): สอนให้ยืดหยุ่น เข้มแข็ง รับมือกับการกลั่นแกล้งภัยจากคนแปลกหน้าและเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม
4.ทักษะในการรักษาความปลอดภัยของตนเองในโลกออนไลน์ (Digital Security Management): สอนให้รักษาความปลอดภัย ตั้งรหัสผ่านป้องกันไวรัสคอมพิวเตอร์ และการโจมตีระบบ
5.ทักษะในการรักษาข้อมูลส่วนตัว (Privacy Management): สอนให้รักษาความเป็นส่วนตัว ปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์
6.ทักษะการคิดวิเคราะห์มีวิจารณญาณที่ดี (Critical Thinking): สอนให้คิด วิเคราะห์ สืบค้น แยกแยะ ไม่เชื่อทุกอย่างที่เห็นหรือรับมา
7.ทักษะในการบริหารจัดการข้อมูลที่ผู้ใช้งานมีการทิ้งไว้บนโลกออนไลน์ (Digital Footprints): สอนให้ตระหนักว่า การกระทำบนโลกออนไลน์ ย่อมมีร่องรอยให้สืบตามตัวได้เสมอ
8.ทักษะการใช้เทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรม (Digital Empathy): สอนให้เข้าใจ อภัย เห็นอกเห็นใจคนอื่น บริหารจัดการอารมณ์ตนเองบนโลกออนไลน์
สสส. และภาคีเครือข่ายตระหนักถึงปัญหา Cyberbullying ในเด็กและเยาวชน อย่าปล่อยให้ความสนุก สร้างการสูญเสียต่อชีวิตที่มีคุณค่า มาร่วมกัน เตรียมทัพ รับมือ ป้องกันภัยจากการถูกระรานทางออนไลน์ไปด้วยกัน เพื่อสร้างสังคมสุขภาวะที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชน