เตรียมความพร้อมสู่การเป็นผู้สูงวัยคุณภาพ
เรื่องโดย : พิจิตรา เพชรเภรี Team content www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบจาก สสส.
“ประชากรไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2560 มีผู้ที่อายุเกิน 60 ปี 11.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 17.1 ของประชากรไทย และในปี 2564 จะมีจำนวนผู้สูงอายุถึง 1 ใน 5 ดังนั้นการรองรับสังคมผู้สูงอายุจะต้องอาศัยการเตรียมความพร้อมจากทุกภาคส่วน”
ข้อความดังกล่าวถูกบอกเล่าโดย นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายในงานเสวนาสาธารณะ เรื่อง "สังคมสูงวัยไทย-ญี่ปุ่น : สูงวัยอย่างมีพลังในโลกยุคดิจิทัล" (Digital and Active Ageing in Japan and Thailand) ร่วมกับ เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย สมาคมญี่ปุ่นแห่งประเทศไทย และ มูลนิธิ Sasakawa Peace ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.
“ที่ผ่านมา สสส. ให้ความสำคัญกับเรื่องการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยเข้ามารับผิดชอบดูแล และเชื่อมประสานในส่วนนี้ ซึ่งประชากรไทยร้อยละ 40 ยังไม่ได้เตรียมความพร้อมเพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ และวัยแรงงานกว่า 15 ล้านคน ที่อยู่ในระบบการออมเพื่อการเกษียณยังมีเงินออมไม่มากพอที่จะใช้หลังเกษียณได้ นอกจากนี้หลักประกันทางเศรษฐกิจที่สะท้อนถึงความไม่พร้อม จำเป็นต้องมีการผลักดัน เตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงวัย” นางภรณี กล่าว
จากปัญหาข้างต้นจึงเป็นที่มาของงานเสวนาในครั้งนี้ มีการถอดบทเรียนจากตัวแทนประเทศญี่ปุ่นและเกาหลี ในเรื่องการออกแบบนวัตกรรมที่ใช้ในการดูแลและพัฒนาคุณภาพผู้สูงอายุ รวมถึงตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจในเรื่องดังกล่าว มีการทำระบบปฏิบัติการเพื่อให้ผู้สูงอายุได้มาทำกิจกรรมผ่อนคลาย และรู้จักการสร้างประโยชน์ สร้างคุณค่าให้แก่ตัวเอง นอกจากนี้ยังมีตัวแทนของสื่อ ที่มีบทบาทในการสร้างพลังบวก และผู้สูงวัยที่มีพลังในโลกยุคดิจิทัลมาให้ความรู้และคำแนะนำ
“หน้าที่ของสื่อมีความคาดหวังว่าผลงานที่ผลิตออกมา จะช่วยทำให้สังคมมองเห็นในมุมมองใหม่ ๆ จากเดิมที่มองเห็นเพียงแค่ทัศนคติที่คิดขึ้นมาเอง หรือทัศนคติที่ถูกผลิตซ้ำขึ้นมา” นายประสาน อิงคนันท์ ตัวแทนผู้ผลิตสื่อ ผู้ก่อตั้งบริษัท บุญมีฤทธิ์ มีเดีย จำกัด และผู้ผลิตรายการลุยไม่รู้โรย สูงวัยดี๊ดี และรายการ The Senior รุ่นใหญ่หัวใจไร้ขีดจำกัด เล่าต่อว่า เมื่อลงไปทำงานจริงกับผู้สูงอายุ ทำให้ความคิดที่เคยมีอยู่ หรือมายาคติเกี่ยวกับผู้สูงวัยเปลี่ยนไป เพราะทุกคนมีความหลากหลาย มีความต้องการเป็นของตัวเอง สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ‘แรงบันดาลใจ’ โดยผู้สูงอายุจะทำหน้าที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้สูงอายุด้วยกันเอง รวมถึงคนรุ่นรองลงมาด้วย นอกจากนี้ยังอีกมีโครงการที่ทำร่วมกับ สสส. คือ “โครงการสูงวัยสร้างเมือง” มาจากการที่ผู้สูงอายุเป็นกำลังสำคัญในการลุกขึ้นมาเปลี่ยนสังคม เปลี่ยนเมืองได้
“เราต้องการให้เห็นว่า ไม่ว่าทุกคนจะอยู่ในวัยใด ก็มักจะมีการขีดวง สร้างกรอบของตัวเองขึ้นมา ทำให้ไม่กล้าที่จะพัฒนา เปิดรับสิ่งใหม่ หรือทำในสิ่งที่ตัวเองไม่เคยทำ ไม่เพียงแค่ผู้สูงอายุ คนวัยหนุ่มสาวก็สามารถเป็นได้ แต่เมื่อทำความเข้าใจตรงส่วนนี้ อคติก็จะน้อยลง จะมีการพยายามทำความเข้าใจคนระหว่างวัยให้มากขึ้น ถ้าคนในประเทศไม่มีความเข้าใจกัน ที่สุดแล้วถึงแม้ระบบจะดี แต่มันจะนำไปสู่ความขัดแย้ง แล้วจะกลายเป็นการแบ่งพวกแบ่งกลุ่มกัน” นายประสานกล่าวเสริม
ด้านตัวแทนผู้สูงวัยที่มีพลังในโลกยุคดิจิทัล นางภัทราวดี มีชูธน หรือ ‘ครูเล็ก’ ศิลปินแห่งชาติ และเจ้าของโรงละครภัทราวดี กล่าวถึงการให้แรงบันดาลใจเกี่ยวกับการแบ่งปันพลังบวกให้กับสังคม และการเข้าไปร่วมทำงานกับเด็ก ๆ ว่า การที่จะทำงานกับเด็ก ๆ ต้องมีการเรียนรู้แล้วลงมือทำ รวมถึงเรียนรู้และฝึกฝนเพื่อที่จะไปสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก ๆ ยิ่งให้ ยิ่งได้รับ ได้ให้วิชาและได้เรียนรู้จากการใช้ชีวิต โดยก่อนอื่นจะต้องรู้จักตัวเอง รู้ว่าทำได้แค่ไหน และเชี่ยวชาญสิ่งใด แล้วนำวิชาเหล่านั้นไปให้เด็ก ๆ ได้ใช้ประโยชน์ และอย่าไปมองว่าความรู้ของตนเองเป็นสิ่งเล็กน้อย เพราะทุกอย่างเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่สำหรับเด็กเสมอ
จากการที่เป็นผู้สูงวัยที่อยู่ในโลกดิจิทัล ‘ครูเล็ก’ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเทคโนโยลีในปัจจุบันว่า ในเรื่องของการเติมเต็มชีวิตด้วยเทคโนโลยีหรือโซเชียลมีเดียในกลุ่มผู้สูงอายุ ถือเป็นการทำความรู้จักกับลูกหลานและเพื่อนฝูง เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ง่ายที่สุดในการหาความรู้ เรียนรู้เพิ่มเติม และสร้างความบันเทิงได้โดยไม่ต้องออกไปไหน นอกจากนี้ยังช่วยให้สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องเหนื่อยมาก
คนทุกคนมีความสำคัญเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก คนหนุ่มสาว หรือผู้สูงอายุ ก็ล้วนแต่มีความสำคัญที่จะช่วยกันขับเคลื่อนประเทศไปในทางที่ดีได้ ดังนั้น หมั่นทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน พูดคุยกันอยู่เสมอ แสวงหาประสบการณ์ และความรู้ร่วมกัน เพื่อที่เป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพของประเทศต่อไป