เตรียมคลอด 7 หลักสูตรให้เด็กเอาตัวรอด

ที่มา : เดลินิวส์


เตรียมคลอด 7 หลักสูตรให้เด็กเอาตัวรอด thaihealth


แฟ้มภาพ


เตรียมคลอดต้นแบบการเรียนการสอนเด็ก ๆ ให้เรียนรู้เรื่องการเอาตัวรอดจากเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินและสถานการณ์ฉุกเฉิน 7 เรื่อง เพื่อช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตให้เด็กได้


เหตุการณ์ที่ทีมนักฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย 13 ชีวิตติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย  ทำให้เรื่องการเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติสำหรับเด็ก ๆ และเยาวชน กลายเป็นประเด็นที่มีการพูดถึงในสังคมวงกว้าง  นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า สพฉ.ได้ผนึกกำลังกับภาคประชาสังคม หน่วยงานภาคเอกชนและภาครัฐ หลากหลายองค์กรรวมถึงกระทรวงศึกษาธิการ จัดเวทีระดมความคิดเห็น เพื่อช่วยกันสร้างร่างหลักสูตร การเรียนการสอนเด็ก ๆ ให้รู้จักการเอาตัวรอด จากเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือเหตุการณ์ภัยพิบัติ พร้อมร่างคู่มือต้นแบบออกมา 7 เรื่องเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้เนื้อหาและวิธีปฏิบัติจากการเจ็บป่วยฉุกเฉินและภัยพิบัติต่าง ๆ


หลักสูตร 7 เรื่องประกอบด้วย 1. การเรียนรู้การเอาตัวรอดจากจากการเดินเท้า ทั้งบนฟุตปาธ ทางเดิน หรือแม้กระทั่งการข้ามถนน ซึ่งเด็ก ๆ จะต้องเรียนรู้เรื่องราวของการเดินเท้าหรือข้ามถนนอย่างปลอดภัยเพื่อให้ตนเองปลอดภัยจากอุบัติเหตุ ซึ่งรูปแบบการเรียนการสอนนั้นจะ เหมาะสมสำหรับเด็กประถมศึกษาปีที่ 1 ขึ้นไป  นอกจากนี้ยังจะมีแนวทางในการขับขี่รถอย่างปลอดภัยที่จะใช้สอนเด็กในวัยมัธยมอีกด้วย 2. คือหลักสูตรที่จะให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้และรับมือกับโรคจิตเวช ซึ่งก็คือการเตรียมการรับมือกับเรื่องของภาวะซึมเศร้าและภาวะเครียด ที่จะนำไปสู่การฆ่าตัวตาย ดังนั้นเด็ก ๆ ควรได้เรียนรู้วิธีในการสังเกต เฝ้าระวัง และหาทางออกให้กับตนเองในอาการเหล่านี้ได้ 3. หลักสูตรเรื่อง การเตรียมพร้อมในการรับมือกับภาวะโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน ซึ่งเด็ก ๆ ของเราจะต้องเรียนรู้อาการเบื้องต้น ว่าโรคหลอดเลือดสมองมีอาการอย่างไร หรือช่วยเหลือคนที่มีอาการเหล่านี้ได้อย่างไร ภายในระยะเวลารวดเร็ว 4. การเรียนรู้อาการของโรคภาวะหัวใจขาดเลือด ซึ่งในบทเรียนก็สอนให้เด็ก ๆ สังเกตอาการของผู้ที่เป็นโรคนี้ เช่น หากเด็ก ๆ เจ็บหน้าอกใจสั่นเหมือนจะเป็นลม เขาจะต้องรู้ว่าอาการเหล่านี้เข้าข่ายโรคนี้หรือไม่ เขาจะเรียกคนให้มาช่วยได้อย่างไร 5. เรียนรู้เรื่องการเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จากเหตุอัคคีภัยและเหตุอุทกภัยในทุก ๆ กรณี คือเด็ก ๆ สามารถที่จะเรียนรู้การเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ไฟไหม้ต่าง ๆ ได้ เอาตัวรอดจากการจมน้ำใน ทุก ๆ กรณีให้ได้ เขาจะต้องเรียนรู้หลักการในการช่วยเหลือคนที่ถูกต้อง เช่น การตะโกน โยน ยื่น จะต้องฝึกลอยตัวในน้ำเพื่อรอความช่วยเหลือได้ หากเขาตกน้ำหรือจมน้ำ 6. หลักสูตรเกี่ยวกับการทำ CPR  หรือการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นต้น เด็ก ๆ จะต้องเรียนรู้วิธีในการทำ CPR ให้เป็นทุกคน และสามารถที่จะช่วยผู้อื่นด้วยการทำ CPR ได้ และ 7. หลัก สูตรเรื่องการเรียนรู้การใช้งานเครื่องAED เบื้องต้น


นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า ขณะนี้เนื้อหาทั้งหมดเราทำเกือบเสร็จแล้ว เหลือแค่การออก แบบสื่อการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับเด็ก ๆ ในแต่ละวัยและแต่ละชั้นเรียนเท่านั้น ในส่วนเรื่องของการท่องเที่ยวในแถบภูเขา ทะเล หรือป่าอุทยานจะต้องจัดให้มีองค์ความรู้เช่นกัน ดังนั้นการสอนให้เตรียมตัวล่วงหน้าและการเตรียมรับมือ เป็นสิ่งจำเป็นในแต่ละสถานการณ์ รวมไปถึงการให้ความรู้เครื่องมือช่วยชีวิต ทั้งเสื้อชูชีพ ไฟฉาย สัญญาณนกหวีด หรือเชือก เพื่อให้เด็กเตรียมตัวเมื่อต้องเผชิญสถานการณ์ และที่สำคัญ เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้เรื่องการขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 1669 ด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ