‘เด็ก-วัยทำงาน’ปัญหาช่องปากอื้อ
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
แฟ้มภาพ
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2559 พบว่าเด็กอายุ 12 ปี ร้อยละ 70 มีพฤติกรรมกินขนมกรุบกรอบ และกินเฉลี่ยวันละ 1 ครั้ง พฤติกรรมเหล่านี้นอกจากจะทำให้เกิดปัญหาฟันผุแล้วยังก่อให้เกิดความเจ็บปวด ติดเชื้อ และสร้างปัญหาในการบดเคี้ยวอาหาร มีผลต่อน้ำหนัก การเจริญเติบโต และบุคลิกภาพของเด็ก
เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า กรมอนามัยได้สำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากระดับประเทศทุก 5 ปี โดยครั้งที่ 8 ปี 2560 ครอบคลุมถึงการสำรวจพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ในเด็กวัยเรียน เนื่องมาจากปัญหาฟันผุในเด็กมีสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการบริโภคที่นิยมกินอาหารหรือขนมที่หาซื้อได้ง่าย เช่น เครื่องดื่มรสหวาน น้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบ ฯลฯ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2559 พบว่าเด็กอายุ 12 ปี ร้อยละ 70 มีพฤติกรรมกินขนมกรุบกรอบ และกินเฉลี่ยวันละ 1 ครั้ง พฤติกรรมเหล่านี้นอกจากจะทำให้เกิดปัญหาฟันผุแล้วยังก่อให้เกิดความเจ็บปวด ติดเชื้อ และสร้างปัญหาในการบดเคี้ยวอาหาร มีผลต่อน้ำหนัก การเจริญเติบโต และบุคลิกภาพของเด็ก
ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กล่าวว่า ผลจากการสำรวจล่าสุดในครั้งที่ 7 ปี 2555 พบว่าเด็กอายุ 3 ปี ร้อยละ 51.7 และเด็กอายุ 5 ปี ร้อยละ 78.5 มีประสบการณ์ฟันน้ำนมผุ ส่วนเด็กวัยเรียนและเยาวชนอายุ 12 ปี และ 15 ปี พบว่า ร้อยละ 52.3 มีประสบการณ์การเกิดโรคฟันแท้ผุ โดยปัจจัยที่มีผลกระทบตรงต่อสภาวะปริทันต์ของเด็กคือการแปรงฟัน กลุ่มวัยทำงาน อายุ 35-44 ปี มีปัญหาสภาวะปริทันต์ที่พบการอักเสบของเหงือก มีเลือดออกง่าย ร้อยละ 39.3 และปัญหาโรคฟันผุที่ยังไม่ได้รับการรักษา ร้อยละ 35.2 มีพฤติกรรมที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในช่องปากโดยสูบบุหรี่ ร้อยละ 19.6 เฉลี่ย 11.7 มวนต่อวัน ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุ พบว่าผู้สูงอายุ 60-74 ปี สูญเสียฟันบางส่วน ร้อยละ 88.3 สูญเสียฟันทั้งปาก ร้อยละ 7.2 และสูญเสียฟันเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามอายุจนเมื่ออายุ 80-89 ปี พบสูญเสียฟันทั้งปากถึงร้อยละ 32.2 ผู้สูงอายุ 60-74 ปี มีความต้องการใส่ฟันเทียมทั้งปาก ร้อยละ 2.5 มีฟันแท้ใช้งานได้อย่างน้อย 20 ซี่ ซึ่งเป็นผลจากพฤติกรรมสุขภาพทั้งในเรื่องของการทำความสะอาดช่องปาก ที่พบว่าผู้สูงอายุมีการแปรงฟันก่อนนอนร้อยละ 65.5 มีการใช้อุปกรณ์เสริมการแปรงฟัน ได้แก่ ไหมขัดฟัน แปรงซอกฟัน เพียงร้อยละ 2.7 และ 1.1 ตามลำดับ