เด็ก-ชุมชน-ครอบครัว สร้างคุณภาพพลเมือง

         นักวิชาการ หนุนบูรณาการ “เด็ก ชุมชน ครอบครัว” ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านเด็กและเยาวชน หวังได้คุณภาพของพลเมืองอย่างแท้จริง คาด 10 ปีสำเร็จ ประเทศพัฒนา…

/data/content/23865/cms/fgijkopuvx46.jpg

          ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. จัดทำโครงการการบูรณาการพลังเด็กและเยาวชน กับพลังชุมชนท้องถิ่น ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านเด็กและเยาวชน เพื่อเชื่อมโยงและบูรณาการงานด้านเด็กและเยาวชนในระดับชุมชนท้องถิ่น โดยสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรด้านเด็กและเยาวชน ภาคีเครือข่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะที่ผ่านมา พลังเด็กและและเยาวชนในฐานะพลเมืองเด็กและพลังชุมชน ได้แยกส่วนกันอย่างชัดเจน ต่างฝ่ายต่างขับเคลื่อนงานตามวิถีของตนเอง แม้ว่าจะมีเป้าหมายเดียวกันหรือคล้ายกันก็ตาม ทำให้เกิดกระบวนการพัฒนาชุมชนที่ซ้ำซ้อน ดังนั้น เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนในระดับท้องถิ่น สร้างความเป็นพลเมือง มีทักษะชีวิตและสุขภาวะที่ดี จนนำไปสู่การแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชน ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งของชุมชนได้อย่างยั่งยืน จึงเกิดการบูรณาการรูปแบบ การทำงานที่เชื่อมโยงกัน

          รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่า การทำงานของสภาเด็กและเยาวชน มีโครงสร้างแบบราชการทำขึ้นข้างบน ไม่เกิดความยั่งยืนต่อยอด ที่จะทำให้เกิดคุณภาพของพลเมืองได้อย่างแท้จริง ซึ่งการมีสภาเด็กและเยาวชน ทั้งระดับอำเภอ จังหวัด ประเทศลงทุนมาก แต่ได้ผลไม่ถึงร้อยละ 30 ดังนั้น สภาเด็กและเยาวชนควรจะทำจากแนวราบ ทั้งนี้ โครงการฯ มีพื้นที่ขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชน ในระดับตำบล 12 ตำบล ในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะแบบองค์รวม และขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านเด็กและเยาวชน

          โดยจุดเด่นของโครงการฯ อยู่ที่การบูรณาการรวมสองพลังเข้าด้วยกันคือ พลังเด็กและเยาวชน และพลังชุมชนท้องถิ่น เพราะพลังของเด็กและเยาวชน คือพลังในการขับเคลื่อนกิจกรรม มีความคิดสร้างสรรค์ คิดทำโครงการดีๆ เพื่อการพัฒนาชุมชนของตนเองโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน มีพื้นที่รวมตัว รวมกลุ่ม เพื่อทำงานร่วมกันในลักษณะที่ตอบโจทย์ประเด็นสาธารณะได้ เป็นการถ่ายถอด หล่อหลอม สืบสาน และต่อยอด ความรู้ของชุมชน ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม และความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนส่วนพลังชุมชนท้องถิ่นมีลักษณะที่เปรียบได้กับต้นทุนในการขับเคลื่อนของเด็กและเยาวชนคือ เป็นพลังที่อยู่ในรูปของความรู้ ปราชญ์ชุมชน พื้นที่เป้าหมาย วิถีชีวิต โจทย์การทำงาน แหล่งทุน และการสนับสนุนต่างๆ ซึ่งเป็นต้นทุนในการคิด และต่อยอดการทำงานของเด็กและเยาวชน เพื่อให้เยาวชนพัฒนาศักยภาพของตนเองได้ผ่านการลงมือปฏิบัติซึ่งจะทำให้การทำงานมีความยั่งยืน การบูรณาการครั้งนี้จะหล่อหลอม สร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับเด็ก โดยให้เด็กคิดโจทย์เองในสิ่งที่อยากทำ ถือเป็นมิติใหม่ที่จะทำให้กระทรวง องค์กร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำบทเรียนที่ได้จากโครงการฯ ไปเป็นต้นแบบการพัฒนา

/data/content/23865/cms/abgikltuyz59.jpg

          “ต้องให้เด็กขึ้นโจทย์เองไม่บังคับ จะเกิดการพัฒนาไม่หยุด อย่าทำโจทย์ยากๆ ที่ผู้ใหญ่ยัดเยียดเพราะเด็กมองว่าไร้สาระ จึงต้องให้เด็กขึ้นโจทย์เอง เพราะเด็กจะทำปัญหาใกล้ตัว ช่วยเพื่อนได้และเป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน ซึ่งผู้ใหญ่ต้องเข้าใจ อดทน ฟังเสียงเด็ก เนื่องจากที่ผ่านมา ส่วนใหญ่อดทนไม่พอ และรอคอยไม่ได้ เพราะผู้ใหญ่ผ่านการเรียนรู้และประสบการณ์มาก่อน จะใจร้อนกว่าเด็ก เวลาทำกิจกรรมจึงอยากเห็นผลงาน แต่เด็กจะใจร้อน เวลาขึ้นโจทย์เสร็จก็อยากทำให้สำเสร็จเร็วๆ ความต้องการจึงต่างกันและที่สำคัญการให้โจทย์ต้องไม่ลืมเด็กไม่ลืม ร.ร. เป็นการเรียนรู้จากจุดเล็กๆ และมีตัวเดินเครื่องให้เกิดความสำเร็จ เช่น การนำจักรยาน เป็นตัวขับเคลื่อนที่เด็กใช้ลงไปสู่พื้นที่ ปั่นสำรวจข้อมูลในชุมชน ได้รู้ปัญหาทุกซอกมุมในชุมชนที่ใกล้ตัวเด็ก แต่ได้บทเรียนที่เป็นแบบอย่างได้ เมื่อเด็กตั้งโจทย์ได้ ร.ร.อาจจะไม่ใช้คำตอบเดียว เพราะลักษณะของเด็กมีหลายกลุ่ม ซึ่ง ร.ร.ส่วนใหญ่ตอบโจทย์ความหลากหลายของเด็กไม่ได้ จะตอบโจทย์เฉพาะกลุ่มเด็กเก่งกับเด็กดี แต่กลุ่มเด็กเสี่ยง เด็กกิจกรรมไม่มี ขาดโอกาสการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้และทำกิจกรรม อีกทั้ง ระบบฐานการเรียนรู้เรื่องชุมชนขัดแย้ง ทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรม ประเพณี กิจกรรมที่ลงสู่ภาคปฏิบัติที่ทำให้มีชีวิตชีวา มีแต่กิจกรรมตามเป้าหมายตัวชี้วัด ดังนั้น การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจะต้องคิดถึงอนาคตปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคมที่อันตรายและเป็นผลที่ทำให้เปลี่ยนพฤติกรรมเด็กและเยาวชน ฉะนั้น เมื่อเกิดฐานเด็กฐานชุมชนแล้ว จำเป็นจะต้องสร้างฐานครอบครัวด้วย เพราะมีบทบาทสำคัญมาก” รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

          รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวอีกว่า สถาบันครอบครัวพูดกันมากว่าครอบครัวสำคัญเป็นนามธรรมขับเคลื่อนไม่ได้ ขณะนี้ ทุกคนต้องช่วยกันดันเด็กขึ้นและเข้าใจโจทย์ร่วมกัน ทั้งชุมชน ครอบครัว เด็กและเยาวชน เพราะถ้ายังมองมิติเดียวจะสู้กระแสสังคมข้างนอกไม่ได้ที่แรงกว่า เร็วกว่า เป้าเข้าถึงกว่า น่าสนใจมากกว่า เช่น โทรศัพท์มือถือ มอเตอร์ไซค์ ซึ่งมิติตัวต่อตัวเราสู้ไม่ได้ ปัญหาสังคมจึงมาก ดังนั้น ต้องมี ร.ร. พ่อ แม่ ที่สามารถดูแลเด็กกลุ่มเสี่ยงได้ โดยออกแบบหลักสูตรให้ดี มีการเชื่อมโยงกัน แต่อย่าไปมอง ร.ร.พ่อ แม่ ในชนชั้นกลางที่มีการป้องกันเตรียมตัวดีอยู่แล้ว แต่เด็กกลุ่มเสี่ยงทำอย่างไรให้ได้รับข้อมูลข่าวสาร ซึ่งต้องพยายามเข้าถึงกลุ่มเด็กที่คิดว่าถ้าเราไม่ช่วยเขาก็จะหลุดออกไปอย่างแน่นอน

         โดยสามารถรู้ข้อมูลของพ่อ แม่ เด็กกลุ่มเสี่ยงได้ จาก 1) ข้อมูลของ สพฐ.ที่มีโครงการให้ครูลงไปเยี่ยมบ้านพบพ่อ แม่เด็กตามบ้านทุกคน 2) เด็กเก็บข้อมูลกันเอง เช่น สภาเด็กลงพื้นที่สำรวจว่าในชุมชน พื้นที่ที่ตนเองอาศัยอยู่มีเรื่องเสี่ยงอะไรบ้าง เด็กจะรู้เพราะเป็นเพื่อนกัน หากทำได้จะเกิดการพัฒนาองค์ความรู้ ฐานข้อมูลที่จะรู้ว่าเลี้ยงลูกรูปแบบไหนจะเป็นอันตราย ซึ่งเป็นการดักปัญหาตั้งแต่ต้นทาง เมื่อพบปัญหา การแก้ไข ร.ร. ครู เด็ก นำตัวอย่างเด็กกลุ่มเสี่ยงลงไปหาครอบครัว เริ่มทำตั้งแต่ชั้นอนุบาลเลย เพราะถ้าไม่ทำเด็กกลุ่มเสี่ยงจะมีจำนวนมากขึ้นตามลำดับ ดังนั้น ต้องออกแบบหลักสูตรให้ดี แม้จะยากแค่ไหนแต่ต้องทำ โดยเชื่อว่าภายใน 10-15 ปี ประเทศสามารถพัฒนาได้จากต้นแบบที่เป็น Best Practice ที่เกิดจากสิ่งที่เด็กตั้งโจทย์ทำจากพื้นที่ให้สามารถจัดการตนเองและผลักดันนโยบายสาธารณะระดับท้องถิ่นประเด็นด้านเด็กและเยาวชน เพื่อขับเคลื่อนและเกิดการเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายระดับล่างของชุมชนและองค์กรเด็กและเยาวชนได้

 

          ที่มา: เว็บไซต์ไทยรัฐ

          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code