เด็กไทย เสพติดเกม
ที่มา:กรมสุขภาพจิต
แฟ้มภาพ
กรมสุขภาพจิตพบเด็กวัยรุ่นติดเกม-ป่วยทางจิตเวชเพิ่มสูงขึ้น 1.5 เท่าในรอบ 3 ปี เตือนพ่อแม่เฝ้าระวังลูกหลานเสพติดเกมประเภท"โมบ้า"ชี้ไม่ใช่กีฬาทางสมอง
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค.2560 พบผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่นได้รับการวินิจฉัยว่า มีปัญหาพฤติกรรมและอาการเสพติด เกมอยู่ในระดับปานกลางถึงรุนแรงที่ต้องเข้ารับการบำบัดรักษาทางจิตเวชอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง รวม 53 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ซึ่งเป็นสถิติที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 1.5 เท่าตัวในรอบ 3 ปี เด็กกลุ่มนี้จะมีโรคร่วมทางจิตเวช เช่น โรคสมาธิสั้น, โรคดื้อต่อต้าน, โรควิตกกังวล, โรคซึมเศร้า นอกจากนี้ยังพบปัญหาพฤติกรรมโกหก ขโมยเงิน เล่นการพนัน หนีเรียน ส่วนใหญ่พบในกลุ่มอายุ 14 – 16 ปี แนวโน้มพบอายุน้อยลงเรื่อยๆ น้อยที่สุดคือ 5 ขวบ
"เรื่องที่น่ากังวลคือคนไทยยังเข้าใจผิดคิดว่าเกมบนสมาร์ทโฟน เกมออนไลน์ การแข่งขันเกมต่อสู้ออนไลน์ คือของเล่นเด็กทุกวัย และเข้าใจผิดว่าการแข่งขันเกมต่อสู้ออนไลน์ที่รู้จักกันว่า โมบ้า เป็นกีฬาทางสมองหรือ อี-สปอร์ต ซึ่งแท้จริงแล้วเกมนี้มีอันตรายต่อสมองที่บริเวณสมองส่วนหน้าของเด็กและวัยรุ่นซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการคิดวิเคราะห์ สมาธิ ความจำ และการตัดสินใจด้วยเหตุผล มีผลต่อการควบคุมความคิด อารมณ์และพฤติกรรมโดยตรง สมองส่วนนี้จะทำงานลดลง ในขณะที่สมองส่วนอยากหรือที่เรียกว่าระบบลิมบิก จะทำงานเพิ่มขึ้นเมื่อได้รับการกระตุ้นด้วยความอยาก ความสนุก ตื่นเต้นความท้าทายจากการต่อสู้และการได้คะแนนหรือชัยชนะในเกมบ่อยๆ ซ้ำๆ ต่อเนื่องนานๆ จะนำไปสู่วงจรสมองติดเกมในที่สุด ซึ่งขณะนี้จิตแพทย์พบว่าเกมชนิดนี้กำลังเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กติดเกมมากจนต้องเข้ารับการบำบัด" อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
ด้าน พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า คาดว่ามีวัยรุ่นไทยติดเกมประมาณ 1.3 – 1.6 ล้านคน แนวโน้มเพิ่มขึ้น เด็กที่ติดเกมส่วนมากจะมีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักกีฬาอี-สปอร์ต ซึ่งโอกาสที่จะเป็นซูเปอร์สตาร์ในวงการนักแข่ง เกมมีน้อยมากเพียง 0.00007% เท่านั้น นอกจากนี้ยังพบวัยรุ่นมีแนวโน้มก่อพฤติกรรมรุนแรงจากการเลียนแบบเกมที่เล่น และยังมีพฤติกรรมเสี่ยงเข้าถึงเกมพนันในหมู่วัยรุ่นอายุ 15-24 ปี อาการแสดงว่าเด็กติดเกมที่ ผู้ปกครองต้องพาไปพบจิตแพทย์โดยด่วน คือ เด็กใช้เวลาหมกมุ่นอย่างมากกับการเล่นเกม อินเทอร์เน็ต จนเกิดการกระหายโอกาสในการเข้าถึง เด็กใช้เวลาเล่นนานกว่า 2 ชั่วโมงและมีอาการถอน คือ หงุดหงิด กระวนกระวาย อาละวาดเมื่อบอกให้หยุดเล่น สำหรับการบำบัดรักษาจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี