เด็กไทยห่างไกลความอ้วน

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


เด็กไทยห่างไกลความอ้วน thaihealth


อย่าว่าแต่เด็กๆ เลย แม้แต่ผู้ใหญ่หลายคนที่มีวุฒิภาวะมากกว่า ก็ยังยากจะหักห้ามนิสัยบริโภคตามใจปาก การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อแก้ปัญหาโรคอ้วนจึงไม่ง่าย แต่ก็ไม่ใช่ เรื่องยากเกินกว่าที่พ่อแม่และคุณครู จะทำได้


สุขภาพดีจะสร้างได้อย่างยั่งยืน ต้องมาจากการสร้างวินัยจากภายใน ไม่ใช่การบังคับ นี่คือสิ่งที่จิตแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล เน้นย้ำผ่านเวทีสัมมนาวิชาการผู้นำสุขภาพ 4.0 ในหัวข้อ "พลังจิต  พิชิตอ้วน" หนึ่งในกิจกรรมเพื่อเปิดช่องทางแหล่งเรียนรู้เด็กไทยดูดี สู่ชุมชน สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


คำว่า "พลังจิต พิชิตอ้วน" ในที่นี้ ไม่ใช่การสะกดจิต แต่หมายถึงการเสริมสร้าง พลังด้านจิตใจเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโดยตัวของเด็กๆ เอง ซึ่งเป็นคำตอบของการแก้ไขปัญหาโรคอ้วนได้อย่างยั่งยืน


เพราะวิธีการบังคับ การขู่ให้กลัว  พร่ำสอนอย่างเคี่ยวเข็ญ อาจใช้ได้ผลสำหรับเด็กบางคนแค่ในเวลาหนึ่งเท่านั้นเพราะความกลัวครู เช่นเดียวกับมาตรการโลกสวยทั้งหลาย เช่น การควบคุมอาหารที่ ขายในโรงเรียน ไม่ให้มีขนมขบเคี้ยว น้ำอัดลมเพราะทันทีที่ก้าวออกไปจากรั้ว "ฝาชีทองคำ" ที่ผู้ใหญ่ครอบไว้ให้ เมื่อเจอสิ่งเร้าขนมยั่วยวนใจมากมาย ในที่สุดก็หนีไม่พ้นการพ่ายแพ้ต่ออารมณ์ความอยากที่ท่วมท้น


คุณหมออัมพร บอกว่า การสร้างให้เกิดวินัยในหัวใจเด็กอย่างลึกซึ้งจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งต้องเกิดมาจากการได้เรียนรู้ด้วยตัวเองว่า การที่เขาเลือกที่จะทำหรือไม่ทำ สิ่งนั้นเพราะอะไร ในวัยเด็กเล็กซึ่งยังไม่สามารถมี ตัวควบคุมในสมองได้ดี หน้าที่ของผู้ใหญ่จึงต้องเป็นคนจัดการสิ่งแวดล้อม และเป็นพลังภายนอกที่จะช่วยควบคุมแทนเขา แต่เมื่อเด็กเริ่มไปโรงเรียน เริ่มเห็นขนม ที่เป็นสิ่งเร้ายั่วยวนทั้งหลาย การสอนให้ เด็กรู้จักควบคุมความอยากด้วยตัวเอง  โดยปลูกฝังวินัยทางบวก ก็จะต้องเพิ่มระดับขึ้นเรื่อยๆ


กลไกอัตโนมัติอย่างหนึ่งของพ่อแม่ที่ทุ่มเทและคาดหวัง มักจะอดไม่ได้ที่จะปรี๊ดแตกเมื่อเห็นลูกถือถุงขนมที่เคย สั่งห้ามแล้วห้ามอีก คำแนะนำจากคุณหมอคือ ต้องทำใจนิ่งๆ และทำความเข้าใจว่า เขาคือสิ่งมีชีวิตน้อยๆ ที่ยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดี สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ คือ ต้องพูดดีๆ  โดยแสดงออกถึงความเข้าใจในตัวลูก เช่น แม่รู้ว่าหนูอยากหม่ำขนม เพราะมันอร่อยมากเลยจริงๆ แต่แม่ให้หนูกินไม่ได้ เพราะฉะนั้นวันนี้เรากินแค่นี้กันดีมั๊ย แล้วพรุ่งนี้ค่อยมากินอีก 3 ชิ้นที่เหลือ "แม่เข้าใจลูก แต่แม่ตามใจลูกไม่ได้ ความเข้าใจไม่ได้แปลว่าตามใจ ในเมื่อตัวควบคุมภายในเด็กไม่ดี ผู้ใหญ่ที่เป็นตัวควบคุมภายนอกก็ต้องแข็งแรง ในขณะเดียวกัน การมีวินัย ไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงเข้าไปกระหน่ำซ้ำเติมอารมณ์ความคับข้องใจของเด็ก แต่ต้องค่อยๆ เติมความหนักแน่น เช่น ถ้าหนูหายโมโหแล้ว แม่จะนั่งรออยู่ตรงนี้นะ หรือหากิจกรรมเบี่ยงเบนอารมณ์ ชวนกันไปทำอย่างอื่นแทน" คุณหมอแนะนำเคล็ดลับสำหรับ "เด็กเล็ก"


ในขณะที่ "เด็กโต" การห้าม การขู่ อาจไม่ใช่วิธีที่ใช้ได้ผลดีนัก เท่ากับการสร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง โดยอาศัยความเข้าใจกลไกพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งการที่คนหนึ่งๆ จะเปลี่ยนแปลงได้ มาจาก 3 องค์ประกอบที่สำคัญ คือ ความชัดเจนของเป้าหมาย ตัวพฤติกรรม ที่จะนำไปสู่เป้าหมายนั้นๆ และฐานราก ที่สำคัญ คือ พลังจิต พลังใจ ที่จะเป็นตัวผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง


เด็กไทยห่างไกลความอ้วน thaihealth


"อย่าแค่กำหนดเป้าหมายลอยๆ ว่า จะลดน้ำหนัก แค่นั้นไม่พอ แต่ต้องสื่อสารเป้าหมายให้ชัดเจน แจกแจงให้ได้ว่า เป้าหมายใหญ่ เป้าหมายย่อยคืออะไร สร้างแผนการเปลี่ยนแปลงสำหรับ แต่ละเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม ถ้าให้ดีควรต้องสามารถวัดผลได้ด้วย เช่น  น้ำหนักตัวระดับน้ำตาลในเลือด ค่าดัชนีมวลกาย BMI"


นอกจากนี้ พฤติกรรมสำคัญที่จะทำให้เกิดการควบคุมน้ำหนักได้ ยังมาจากการรู้เท่าทันและหลีกเลี่ยง "สิ่งเร้า" ที่นำมาสู่การกระตุ้นให้เด็กเกิดความคิด และ ความรู้สึกอยาก ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่อาหาร แต่ยังสามารถเป็นได้ทั้งตัวบุคคล สถานที่ ช่วงเวลา สภาพอารมณ์ หรืออื่นๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ร่วมกับภาวะการกิน เช่น ไปกับเพื่อนกลุ่มนี้ต้องกินพิซซ่า ไปที่นี่ต้องสั่งไอศกรีม เลิกเรียนแล้วต้องไปกินขนม กินเพราะเครียดใกล้สอบ ฯลฯ


"การสั่งห้ามว่าอย่ากินอย่างเดียว  มักจะไม่ได้ผล แต่ต้องออกแบบการเรียนรู้ เพื่อฝึกเด็กๆ ให้เรียนรู้ เท่าทัน และ หลีกเลี่ยงจากสิ่งเร้า เช่น ถ้าเวลาเสี่ยงคือตอนเลิกเรียนที่ต้องกินขนมกับเพื่อน เด็กๆ คิดว่า จะมีวิธีการหลีกเลี่ยงอย่างไร และเมื่อเด็กๆ มีความคิดความอยากกินเกิดขึ้นแล้ว อาจต้องมีตัวช่วย มีคนคอยเตือนคอยรั้งเพื่อให้หยุดตัวเองได้ทัน"


คุณหมออัมพร ยังแนะนำด้วยว่า การจะ"เพิ่มพลังใจ" ให้กับเด็กๆ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เด็กแต่ละกลุ่มมีแรงจูงใจและความสามารถในการเปลี่ยนแปลงไม่เหมือนกัน ในเด็กช่วงวัย 3-5 ปี จนถึง 6-12 ปี  ที่ต้องการการยอมรับและชื่นชม การให้โจทย์ การดูแลสุขภาพให้เด็กแข่งขันกันก็อาจเป็นแรงจูงใจได้อย่างหนึ่ง หรือสร้างให้เด็กมีส่วนร่วมในการหาทางออก เช่น การจับคู่กันเป็นบัดดี้แบบเพื่อนช่วยเพื่อน อีกปัจจัยที่สำคัญมาก คือ สังคมรายล้อมที่จะเกื้อหนุนเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนจากพ่อแม่ พลังจากกลุ่มเพื่อนฝูงที่มีอิทธิพลต่อเด็ก


นอกจากนี้ วิธีการสร้างพลังใจยังทำได้โดยการให้เด็กๆ ได้เขียนสัญญาใจเพื่อการเปลี่ยนแปลงตัวเองว่า พฤติกรรมที่อยากเปลี่ยนคืออะไร ทำไมจึงอยากเปลี่ยน และจะเริ่มเปลี่ยนเมื่อไหร่ กำหนดรูปธรรมที่ชัดเจน เช่น ออกเป็นเป็นไดอารี่กำหนดแผนงานของตัวเอง ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นการสร้างวินัย จากภายในที่นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายได้" คุณหมออัมพร ให้คำแนะนำถึงการสร้างภูมิคุ้มกันใจให้เด็กไทยห่างไกล "อ้วน"  ในวัยเรียน แหล่งเรียนรู้เด็กไทยดูดี สู่ชุมชน


ปัจจุบัน ปัญหาโรคอ้วนในเด็กกำลังเป็นภัยคุกคาม โดยเฉพาะในเด็กวัยเรียนและในเขตกรุงเทพฯที่พบโรคอ้วนในอัตราสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับภาคต่างๆ ซึ่งมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการบริโภค และ การขาดกิจกรรมทางกาย โดยในช่วงที่ผ่านมา โครงการเด็กไทยดูดี มีพลานามัย ภายใต้ การสนับสนุนของ สสส. ได้ดำเนินการสำรวจเด็กนักเรียนในเครือข่ายโรงเรียนภาครัฐในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) จำนวน 5 โรงเรียน ใน ปี 2558 พบว่ามีเด็กวัยเรียนที่เป็นโรคอ้วนถึงร้อยละ 21 ขณะที่ทั้งประเทศอยู่ที่ร้อยละ 12 นอกจากนี้พบมีไขมันในเลือดสูงถึงร้อยละ 66 ความดันโลหิตสูงร้อยละ 30 พบน้ำตาลในเลือดระดับเริ่มเสี่ยงต่อโรคเบาหวานและลักษณะปื้นดำที่คอเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคเบาหวานร้อยละ 10


เด็กไทยห่างไกลความอ้วน thaihealth


ศ.พญ.ชุติมา ศิริกุลชยานนท์ ประธาน โครงการเปิดช่องทางแหล่งเรียนรู้ เด็กไทยดูดี สู่ชุมชน กล่าวว่า จากการดำเนินโครงการมานับตั้งแต่ปี 2547 เพื่อหาแนวทางแก้ไขและป้องกันโรคอ้วนในวัยเด็ก พบว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคในเด็กเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องใช้เวลา และความร่วมมือ จากครูและผู้ปกครอง จึงจำเป็นต้องมีการ กระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง นำมาสู่แนวคิดผลักดันศูนย์การเรียนรู้เด็กไทยดูดี มีพลานามัย ผ่านเครือข่ายโรงเรียนประถมศึกษา 5 แห่ง ได้แก่ รร.นุบาลวัดนางนอง, รร.อนุบาล วัดปรินายก, รร.อนุบาลสามเสน, รร.อนุบาลพิบูลเวศม์ และ รร.พญาไท พร้อมทั้งขยายสู่ ความร่วมมือกับเครือข่ายโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดสพฐ. อีก 4 แห่ง ได้แก่ รร.สวนกุหลาบ- วิทยาลัย รร.สตรีวิทยา รร.สามเสน และ รร.กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย


เป้าหมายเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ ต้นแบบด้านโภชนาการและสุขภาพสู่ชุมชน โดยโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการมีการให้ความสำคัญกำหนดเป็นนโยบายจากผู้บริหารมีการจัดโครงสร้างและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ในโรงเรียน เช่น การจัดอาหารกลางวันและอาหารขายในโรงเรียนที่มีคุณค่าทางโภชนาการ การจัดระเบียบและช่วงเวลาขายอาหารและเครื่องดื่ม การส่งเสริมการ มีกิจกรรมทางกายและการออกกำลังกาย


นอกจากนี้ ยังมีการสร้างส่วนร่วมของเครือข่ายผู้ปกครอง ครูและผู้บริหารโรงเรียนเพื่อให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนในการจัดการทั้งในและนอกโรงเรียน รวมถึงการสำรวจภาวะโภชนการในเด็กนักเรียนและบุคคลากร การบูรณาการความรู้ทางโภชนาการและการออกกำลังกายใน บทเรียนและกิจกรรมนอกหลักสูตร


ในปีนี้ โครงการเด็กไทยดูดีฯ ยังได้ริเริ่มแนวทางการสร้างผู้นำสุขภาพ 4.0 ผ่านการจัดกิจกรรมค่ายผู้นำสุขภาพ  โดยมีตัวแทนนักเรียนและอาจารย์ระดับมัธยมศึกษามาเข้าค่ายร่วมกัน เพื่อสร้างกลุ่มเด็กโตที่จะเป็นผู้นำที่มีความตระหนักรู้ เข้าใจ เข้าถึงปัญหา มาร่วมแก้ปัญหาให้กับน้องๆ และเพื่อนๆ ในโรงเรียน โดยมีครูในโรงเรียนช่วยสนับสนุนองค์ความรู้และ กำลังใจ เพื่อเอาชนะก้าวข้ามการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งกันและกันโดยใช้เทคโนโลยีและ สื่อโซเชียลมีเดียให้เกิดประโยชน์ในกลุ่มโรงเรียน พร้อมพัฒนาเป็นต้นแบบแหล่งเรียนรู้ที่เปิดกว้างสู่ชมชนต่อไป


ทั้งหมดนี้ เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมาย ขับเคลื่อนให้สังคมไทยห่างไกลจากความเสี่ยง ต่อโรคอ้วน ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 "การสั่งห้ามว่า อย่ากินอย่างเดียว มักจะไม่ได้ผล แต่ต้องออกแบบการเรียนรู้ เพื่อฝึกเด็กๆ ให้เรียนรู้ เท่าทัน และหลีกเลี่ยงจากสิ่งเร้า"

Shares:
QR Code :
QR Code