เด็กไทยรู้เท่าทันภัยโลกดิจิทัล

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ


เด็กไทยรู้เท่าทันภัยโลกดิจิทัล thaihealth


แฟ้มภาพ


หากยิ่งเล่นเกมเป็นเวลานานมากขึ้นก็ยิ่งสัมพันธ์กับอาการและพฤติกรรมความรุนแรงที่มากขึ้นตามไปด้วย เกิดการใช้คำหยาบที่ไม่เหมาะสมกับช่วงวัยรวมถึงจะมีอารมณ์ความรุนแรง หากถูกห้ามไม่ให้เล่นเกม นอกจากนั้นยังพบว่ามีการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ เช่นก่อกวนข่มขู่คุกคาม ให้ร้ายใส่ความ แกล้งแหย่ เผยแพร่ความลับ การกีดกันออกจากกลุ่ม การแอบอ้างชื่อ การสร้างบัญชีปลอม การขโมยอัตลักษณ์ และการล่อลวง


เวทีเสวนา “เปิดวิถีออนไลน์…เด็กไทยกับภัยใกล้ตัว” ที่จัดโดยสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)และเครือข่าย ทาง ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก นายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) ได้มีการเปิดเผยตัวเลข “สถานการณ์การเล่นเกมออนไลน์ของเด็กไทย” พบว่า ร้อยละ 89.33 เคยเล่นเกมออนไลน์โดยเล่นเกมเฉลี่ย 3-5 ชั่วโมงในวันธรรมดา ขณะที่วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ใช้เวลาเล่นเกมมากกว่า 8 ชั่วโมง และส่วนใหญ่จะเล่นที่บ้านหรือหอพัก และเกมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของเด็กไทย คือ ROV โดยพบว่ารับมือกลั่นแกล้งทางออนไลน์หลายรูปแบบ เช่นกัน ทั้งการนิ่งเฉยไม่ตอบโต้ การตัดความสัมพันธ์ บล็อก ไม่ปรากฏตัวการขอคำปรึกษาจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครู และเก็บหลักฐานเพื่อแจ้งความดำเนินคดี


ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อ และสุขภาวะทางปัญญา (สำนัก 11) สสส. มองว่าภัยจากการใช้สื่อออนไลน์ของเด็กไทย ทั้งการแสดงออกทางพฤติกรรมและทางอารมณ์รุนแรงเมื่อเด็กเล่นเกมเป็นเวลานาน การพนันในเกม และอาจจะส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


“ตอนนี้ยังพบว่าเด็กต้องเผชิญกับการกลั่นแกล้งรังแกทางออนไลน์ในหลายรูปแบบ จนอาจนำไปสู่การทำร้ายตัวเองและผู้อื่น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายต้องมีการสร้างความฉลาดทางดิจิทัลให้กับเด็กและเยาวชนควบคู่ไปด้วย เพื่อให้เท่าทันต่อกระบวนการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ ใช้เวลาออนไลน์อย่างพอเหมาะพอดี รู้จักรักษาความปลอดภัย ปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ สอนให้คิดวิเคราะห์ สืบค้น แยกแยะ สอนให้ตระหนักว่าการกระทำบนโลกออนไลน์ย่อมมีร่องรอยให้ตามสืบตามตัวได้เสมอ และที่สำคัญคือการสอนให้เข้าใจ อภัย เห็นอกเห็นใจคนอื่น บริหารจัดการอารมณ์ตนเองบนโลกออนไลน์’’ ดร.นพ.ไพโรจน์ แนะนำ


ดร.นพ.ไพโรจน์ยังให้คำแนะนำผู้ปกครองที่ต้องเผชิญปัญหาเด็กติดเกมว่าผู้ปกครองต้องให้ความสำคัญในเนื้อหาของเกมที่ลูกเล่นว่าเหมาะสมหรือไม่อย่างไร ควรต้องมีส่วนร่วมในการเลือกเกมหรือเล่นเกมกับเด็กอย่างใกล้ชิด เฝ้าสังเกตพฤติกรรม การตอบสนองและอารมณ์ของเด็กขณะที่เล่นเกม จำกัดเวลาในการเล่นของลูกให้ชัดเจน ให้คำแนะนำปลูกฝังบอกให้ลูกรู้ผลดีผลเสียในด้านต่าง ๆ ของการเล่นเกมมากเกินไป นอกจากนั้นผู้ปกครองควรหากิจกรรมเสริมที่น่าสนใจ เช่น ชวนลูกไปเล่นกีฬา สร้างสรรค์งานศิลปะ ปลูกต้นไม้ ทำอาหาร อ่านหนังสือ ทัศนศึกษา ให้ความรู้ความเข้าใจ สร้างภูมิคุ้มกันให้เท่าทันสื่อ คู่ขนานกับการส่งเสริมสื่อสร้างสรรค์

Shares:
QR Code :
QR Code