เด็กไทยฟันผุ เหตุกินขนมกรุบกรอบ-น้ำหวาน

         เด็กวัยเรียนมีปัญหาโรคฟันผุอยู่มาก โดยเฉพาะเด็กอายุ 12 ปี หรือประถมศึกษาปีที่ 6 นอกจากจะสร้างความเจ็บปวด การติดเชื้อ และปัญหาการบดเคี้ยวอาหารแล้ว ยังส่งผลต่อน้ำหนัก การเจริญเติบโต และบุคลิกภาพ รวมไปถึงผลกระทบต่อการเรียน

/data/content/19702/cms/abfjlptuv235.jpg          วันที่ 19 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมเอเชียแอร์พอร์ต ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีมอบเกียรติบัตรและรางวัล ในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เครือข่ายโรงเรียนเด็กไทยฟันดี ปี 2557 ว่า จากผลสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากของคนไทยที่ผ่านมา พบว่าเด็กวัยเรียนมีปัญหาโรคฟันผุอยู่มาก โดยเฉพาะเด็กอายุ 12 ปี หรือประถมศึกษาปีที่ 6 มีฟันผุมากถึงร้อยละ 52 นอกจากจะสร้างความเจ็บปวด การติดเชื้อ และปัญหาการบดเคี้ยวอาหารแล้ว ยังส่งผลต่อน้ำหนัก การเจริญเติบโต และบุคลิกภาพ รวมไปถึงผลกระทบต่อการเรียน ทำให้เด็กหยุดเรียนถึงปีละ 400,000 คน

          สาเหตุส่วนหนึ่งของโรคฟันผุเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคขนมกรุบกรอบและน้ำหวาน สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย จึงร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พัฒนาสุขภาพช่องปากในเด็กวัยเรียนมา โดยเน้นการดำเนินงานเชิงนโยบายเพื่อจัดการสิ่งแวดล้อม และจัดกิจกรรมส่งเสริมพฤติกรรมอนามัยของเด็กในโรงเรียน ภายใต้ 2 โครงการหลัก  คือ /data/content/19702/cms/bcdekrtux238.jpg

          1.โครงการพัฒนาเครือข่ายโรงเรียนเด็กไทยฟันดี ที่สร้างเครือข่ายเพื่อพัฒนาการส่งเสริมทันตสุขภาพในโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน 2.โครงการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) อ่อนหวาน ที่มุ่งเน้นการจัดสภาพแวดล้อมในโรงเรียนให้เอื้อต่อการดำเนินงานทันตสุขภาพ โดยให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาดูแลโรงเรียนในสังกัดให้เป็นโรงเรียนที่งดขายและงดให้บริการน้ำอัดลมในโรงเรียน ปัจจุบันมีเครือข่ายโรงเรียนเด็กไทยฟันดี 400 เครือข่าย 5,746 โรงเรียน ใน 70 จังหวัดทั่วประเทศ และ สพป.อ่อนหวาน 98 แห่ง

          “ในปี 2557 มีเครือข่ายโรงเรียนเด็กไทยฟันดีที่สามารถพัฒนาจนผ่านเกณฑ์ประเมินเป็นต้นแบบเครือข่ายโรงเรียนเด็กไทยฟันดีระดับยอดเยี่ยม 10 เครือข่าย อาทิ เครือข่ายโรงเรียนเด็กไทยฟันดีอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง เครือข่ายบางปะหันแปดเซียนนักเรียนฟันดี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเครือข่ายโรงเรียนเด็กไทยฟันดีระดับดีมาก 13 เครือข่าย อาทิ เครือข่ายรู้ทัน ฟันงาม อำเภอสยามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา เครือข่ายเด็กพิมายรักษ์ฟัน จังหวัดนครราชสีมา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ที่ดำเนินการโครงการ สพป.อ่อนหวานสำเร็จ จำนวน 19 แห่งอาทิ สพป.กระบี่ สพป.กาญจนบุรี เขต 4 สพป.เชียงราย เขต 1, เขต 3, เขต 4 เป็นต้น”

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

Shares:
QR Code :
QR Code