เด็กไทยคิดแต่เรื่องตัวเอง ละทิ้งชุมชน

          นักวิชาการเผยเด็กไทยได้รับอิทธิพลทุนใหม่ คิดแต่เรื่องตัวเอง ละทิ้งชุมชนและภูมิปัญญา แนะเปลี่ยนชุมชนสู่ความยั่งยืน

/data/content/23862/cms/afhlpuv13468.jpg

          รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ขณะนี้ปัญหาของเด็กเยาวชน เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยผู้ใหญ่ปัจจุบันมีทุนเดิมทางสังคมที่เข้มแข็งตั้งแต่ยังเล็ก ส่วนคนวัยทำงานเป็นช่วงรอยต่อระหว่างทุนเดิมกับทุนใหม่ และเด็กเยาวชนปัจจุบันได้รับอิทธิพลจากทุนใหม่ ได้แก่ทุนนิยมต่างๆ โดยมีเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ โทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ เป็นตัวเร่ง ขณะที่สังคมมีค่านิยมการเรียนเพื่อให้ได้ปริญญา จึงทำให้เด็กรุ่นใหม่มุ่งกวดวิชาเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย เกิดจิตสำนึกชุดใหม่ คือ คิดแต่เรื่องของตนเองเป็นหลัก คำนึงถึงความสำเร็จและประโยชน์ของตนเองเป็นที่ตั้ง ไม่สนใจวิธีการให้ได้มาซึ่งความสำเร็จ ละทิ้งชุมชนและภูมิปัญญาของตนเอง

          ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. จัดทำโครงการการบูรณาการพลังเด็กและเยาวชนกับพลังชุมชนท้องถิ่นในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านเด็กและเยาวชนเพื่อเชื่อมโยงและบูรณาการงานด้านเด็กและเยาวชนในระดับชุมชน ท้องถิ่น เพราะเห็นว่าอนาคตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) จะได้รับงบประมาณเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการบริหารจัดการจะต้องมีธรรมาภิบาล การจัดการศึกษาจะต้องบูรณาการหลักสูตรแกนกลาง หลักสูตรท้องถิ่น กิจกรรมเด็กและเยาวชน เครือข่ายสังคม ผู้บริหาร อปท.ทุกระดับ โรงเรียน ต้องร่วมมือกัน ปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนเห็นความสำคัญของภูมิปัญญา และยอมรับคำสอนของภูมิปัญญาและปราชญ์ชาวบ้าน สนับสนุนกิจกรรมที่สร้างสรรค์ที่เด็กและเยาวชนเป็นต้นคิด เช่น การที่เด็กนำจักรยาน เป็นตัวขับเคลื่อนปั่นสำรวจข้อมูลในชุมชน ได้รู้ปัญหาทุกซอกมุมในชุมชนที่ใกล้ตัวเด็ก และตั้งโจทย์เพื่อแก้ไขปัญหา เป็นต้น เมื่อเกิดฐานเด็กฐานชุมชนแล้ว จำเป็นจะต้องสร้างฐานครอบครัวด้วย

          รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาต้องมีการเปลี่ยนชุมชนสู่ความยั่งยืน เราควรมีโรงเรียน 3 ประเภท ได้แก่ ร.ร.ในระบบ เพื่อรองรับเด็กปกติในครอบครัวปกติ ,ร.ร.ชุมชน ประกอบด้วยศูนย์การเรียนรู้ ภูมิปัญญา และใช้กระบวนการค่ายในการเรียนรู้และปลูกฝังแนวคิดต่างๆ เพื่อดึงทุนทางสังคมวัฒนธรรมไทยกลับคืนมา และ ร.ร.พ่อแม่ เพื่อให้คำแนะนำพ่อแม่กลุ่มเสี่ยงเกี่ยวกับการดูแลลูก เพราะบางเรื่องพ่อแม่อาจไม่รู้ตัวว่า กำลังทำร้ายลูกตัวเอง เช่น การเข้มงวดเรื่องการเรียนของลูกมากเกินไป การเลี้ยงลูกด้วยเงิน โดยไม่ให้เวลา เป็นต้น ซึ่งมีตัวอย่างจากกรณีลูกฆ่าพ่อแม่พี่หรือน้องตนเอง โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเลี้ยงดูที่อาจจะไม่ถูกต้อง อีกทั้งต้องออกแบบหลักสูตรให้ดี แม้ยากแค่ไหนแต่ต้องทำถ้าทำได้เชื่อว่าภายใน 10-15 ปี สังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีขึ้น

 

 

          ที่มา: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ

          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code