เด็ก“โดน” โฆษณาอาหารลวง“วอน” กสทช. เร่งแก้ไข
"โฆษณาอาหาร" แรงจูงใจลวงเด็กบริโภค ไม่ให้ข้อมูลตามความจริง วอน กสทช. เร่งให้ความสำคัญดูแลโฆษณาที่เข้าถึงเด็ก
เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2558 ณ สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ สถานีมักกะสัน กรุงเทพฯ แผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ และสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน ได้จัดเสวนาเรื่อง “รู้เท่าไล่ทันโฆษณาขนมเด็ก”
ทั้งนี้ จากการที่แผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ได้ทำการศึกษา การโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มในรายการสำหรับเด็กทางทีวีดิจิตอล 3 ช่อง ได้แก่ 3 Family, MCOT Kids และ LOCA พบว่า ร้อยละ 85 ของอาหารและเครื่องดื่มที่โฆษณา เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการไม่เหมาะสม ยิ่งไปกว่านั้น การโฆษณายังใช้พรีเซ็นเตอร์ที่เป็นดาราดัง ใช้การ์ตูน และการใช้ mock up ที่ทำให้อาหารมีขนาดใหญ่เกินกว่าความเป็นจริง ในส่วนของเนื้อหาโฆษณาก็มุ่งเน้นเรื่องการส่งเสริมให้บริโภคเกินความจำเป็น การบริโภคแทนอาหารมื้อหลัก การใช้คำที่ทำให้รู้สึกว่าราคาถูกลง การทำให้รู้สึกว่าเด่นกว่าหรือด้อยกว่าคนอื่น ทั้งมีเนื้อหาส่อไปในทางเพศซึ่งไม่เหมาะสมกับเด็ก นอกจากนี้ ยังพบโฆษณาแฝงทุกรูปแบบมากที่สุดในรายการที่ออกอากาศในช่วงเวลาสำหรับเด็กด้วย “การโฆษณาลักษณะดังกล่าวพบในโทรทัศน์ฟรีทีวีด้วยเช่นกัน สถานการณ์นี้น่าเป็นห่วงเพราะกฎหมายควบคุมการโฆษณาที่มีอยู่ในปัจจุบันก็ไม่ครอบคลุมการโฆษณาที่มีรูปแบบและเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก” นายพุฒิปัญญา เรืองสม นักวิชาการแผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าว
ด้าน ดร.นนทสรวง กลีบผึ้ง อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เสริมว่า โฆษณาไม่ได้ให้ข้อมูลที่ถูกต้องตรงความเป็นจริงทั้งหมด โดยนำเสนอข้อมูลเพียงบางส่วน และในทางจิตวิทยา การโฆษณาเป็นการกระตุ้นให้เกิดความต้องการบริโภค และงานวิจัยจำนวนมากยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า เด็กที่มีความถี่ในการรับชมโฆษณาและจำนวนชั่วโมงในการเปิดรับสื่อมาก จะส่งผลให้เด็กเกิดการสะสมข้อมูลไว้ในสมอง และเมื่อถึงเวลาที่เด็กต้องการรับประทานอาหารจะทำให้เด็กระลึกถึงยี่ห้ออาหารที่ได้รับชมจากการโฆษณา แล้วเลือกซื้ออาหารตามที่โฆษณาในที่สุด ดังนั้น การโฆษณาจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสมต่อสุขภาพ เช่น ขนมกรุบกรอบ ซึ่งเมื่อเด็กรับประทานอาจก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ และแนวทางในการป้องกันเด็กจากโฆษณาอาหารที่ไม่คุณค่าทางโภชนาการไม่เหมาะสมควรจะต้องให้ความรู้เรื่องเท่าทันสื่อแก่เด็กและพ่อแม่ผู้ปกครอง
ส่วนนางอัญญาอร พานิชพึ่งรัถ ประธานเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ กล่าวว่า โฆษณาอาหารและเครื่องดื่มในช่วงรายการสำหรับเด็ก เคยมีการออกเป็นประกาศกรมประชาสัมพันธ์ 2551 มีการกำหนดให้ 1 ชั่วโมง โฆษณา ได้ 12 นาทีครึ่ง โดยให้ 2 นาทีในการให้ความรู้ทางโภชนศึกษา แต่กฎหมายนี้ยกเลิกไปเมื่อมีพ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ยิ่งไปกว่านั้น กฎหมายยังมีช่องว่างโดยเฉพาะการโฆษณาแฝง เพราะไม่สามารถนับเวลาในการโฆษณาได้ จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายชัดเจนในการควบคุมโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มในช่วงรายการสำหรับเด็ก หน่วยงานกำกับดูแลโฆษณา ทั้งสมาคมวิชาชีพและภาครัฐอย่างกสทช. จึงต้องเร่งให้ความสำคัญกับการดูแลเรื่องโฆษณาที่เข้าถึงเด็ก ต้องมีหลักเกณฑ์ที่แตกต่างจากโฆษณาในช่วงรายการของผู้ใหญ่ และต้องมีการให้ความรู้เกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อให้แก่คนในสังคม รวมทั้ง การส่งเสริมให้มีการร้องเรียนจากผู้บริโภคต่อไป
ด.ช.พิวัฒน์ ศุภวิทยา ตัวแทนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กล่าวว่า โฆษณามีส่วนจูงใจให้เกิดความต้องการบริโภค โฆษณาเครื่องดื่มบางชนิดทำให้คิดว่าทำมาจากผลไม้จริงๆ และดื่มแล้วจะทำให้ดูดีเหมือนดาดราที่เป็นผู้นำเสนอ ด้านนางกัญจนี ศุภวิทยา ผู้ปกครองของเยาวชน ย้ำว่า ในทีวีมักพบโฆษณาอาหารที่กล่าวอ้างเกินจริง ใช้ดาราที่โด่งดังซึ่งทำให้เด็กกินขนมตามที่เห็นในโฆษณา ในฐานะแม่อยากขอร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มกฎกติกาและกำหนดกลไกในการควบคุมดูแลโฆษณาในช่วงรายการเด็กและเยาวชนเป็นพิเศษ โดยเฉพาะโฆษณาอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมและใช้เทคนิคต่างๆ เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้เด็กบริโภค รวมทั้งการพัฒนาระบบในการรับเรื่องร้องเรียน การติดตามเฝ้าระวัง และการลงโทษโฆษณาที่ฝ่าฝืนกฎข้อบังคับอย่างเข้มงวดด้วย
ที่มา: สำนักข่าวสร้างสุข