เด็กเล็กนั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์สุดอันตราย

ในแต่ละวันจะเห็นเด็กเล็กระดับชั้นประถมศึกษา นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์หรือนั่งด้านหน้าของผู้ปกครองที่เป็นผู้ขับขี่ จนกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมไทย โดยเฉพาะที่ต่างจังหวัด ซึ่งผู้ปกครองนิยมขี่รถจักรยานยนต์ไปส่งและรับลูกหลานกลับจากโรงเรียน แม้ว่าสถิติการเกิดอุบัติเหตุในรถจักรยานยนต์จะเกิดการสูญเสียมากที่สุด ขณะเดียวกันก็มีการรณรงค์เรื่องสวมหมวกนิรภัยกันมาอย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่ผู้ใช้งานก็ไม่ได้ตระหนักถึงอันตรายเหล่านี้เท่าที่ควร


เด็กเล็กนั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์สุดอันตราย thaihealth


แฟ้มภาพ


เพื่อให้กลุ่มผู้ปกครองที่มีเด็กเล็ก ได้ตระหนักถึงความปลอดภัยในการขับขี่รถจักรยานยนต์ที่มีเด็กเล็กนั่งซ้อนทั้งด้านหน้าและด้านหลัง คณะทำงานสนับสนุนแผนงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุการจราจรทางถนนระดับจังหวัด (สอจร.) ร่วมกับมูลนิธิไทยโรดส์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) Malaysian Institute of Road Safety Research (MIROS) และวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติ สิรินธร ไทย-เยอรมัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้ร่วมกันทดสอบความรุนแรงของการเกิดอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ที่มีเด็กเล็กเป็นผู้ซ้อน โดยสถาบันทดสอบยานพาหนะแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN NCAP) เป็นผู้จัดการทดสอบ ที่เมืองมะละกา ประเทศมาเลเซีย


ผลจากการทดสอบในกรณีแรก คือ ให้เด็กเล็กนั่งซ้อนท้ายผู้ปกครองทางด้านหลัง ขับขี่ในระดับความเร็วที่ 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อเกิดการชน พบว่า ทั้งผู้ปกครองและเด็กเล็กเสียชีวิตทั้งสองคน โดยเด็กถูกแรงเหวี่ยงกระเด็นตกจากรถ ส่วนในการทดสอบกรณีที่สอง คือ ให้เด็กเล็กนั่งด้านหน้า ผู้ใหญ่คร่อมตัวเด็กขับขี่ในระดับความเร็ว 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ผลการทดสอบปรากฏเช่นเดิม คือ เสียชีวิตทั้งสองคน โดยเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เด็กจะถูกแรงอัดกระแทกของผู้ใหญ่ที่เป็นคนขับขี่


รศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ อธิบายว่า โครงการนี้เป็นการทดสอบการชน เพื่อให้เห็นผลลัพธ์ว่า เมื่อมีเด็กนั่งหน้าหรือหลังรถจักรยานยนต์ หากเกิดอุบัติเหตุ ความบาดเจ็บจะเป็นอย่างไร เพื่อใช้เป็นช่องทางการสื่อสารกับผู้ใช้รถ โดยใช้ภาพการทดสอบให้มองเห็นภาพที่จะเกิดขึ้นในชีวิตจริง โดยใช้หุ่นทางวิศวกรรมมาทดสอบแทน หลังจากนี้จะประมวลผลเพื่อต่อยอด นำไปออกแบบที่นั่งเด็กว่าลักษณะใดที่จะลดการบาดเจ็บ ลงได้


ขณะที่ ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล นักวิจัยด้านถนนปลอดภัยคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี บอกว่า จากการทดสอบกรณีนี้เบรกแล้ว ความเร็วชนประมาณ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อยู่เหนือระดับปลอดภัยที่จะรอดชีวิต คือ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คอหุ่นใหญ่ฟาดเสาคานหน้าของรถ น่าจะคอหักทันที ส่วนเด็กเข้าใจว่าน่าจะถูกแรงกระแทก ถ้าไม่ตายทันที คงบอบช้ำมาก ทั้งหมดนี้เป็นข้อเตือนใจว่าเราต้องมีมาตรการให้ใช้ความเร็วเฉลี่ยลดลง ซึ่งประเทศมาเลเซียกำหนดให้รถจักรยานยนต์ใช้ความเร็วไม่เกิน 50 กม.ต่อชั่วโมง ขณะที่ประเทศไทยกำหนดให้ความเร็วได้ถึง 80 กม.ต่อชั่วโมง แต่ถึงแม้จะขี่ด้วยความเร็วไม่มาก หากปะทะเกิน 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โอกาสตายก็มาก สถานการณ์จำลองที่ทำขึ้นเป็นภาพเตือนใจว่าต้องมีมาตรการเรื่องวิศวกรรมจราจรและกฎหมาย โดยเฉพาะองค์ประกอบรถจักรยานยนต์ต้องปรับปรุง มีโอกาสที่จะพัฒนาสิ่งเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ แต่ขอแนะนำว่า ถ้าพอมีกำลังทรัพย์ ให้เปลี่ยนไปใช้รถยนต์จะปลอดภัยกว่า


การทดลองในครั้งนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า การที่ให้เด็กเล็กนั่งรถจักรยานยนต์มีอันตรายถึงชีวิตหากเกิดอุบัติเหตุ ทั้งที่ใช้ความเร็วเพียงแค่ 30-40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้แพทย์ออกมาระบุ ไม่ควรให้เด็กนั่งรถจักรยานยนต์ แต่หากเลี่ยงไม่ได้ ควรใช้ความเร็วน้อยและใช้ความระมัดระวังสูงสุด


มีปัญหาร้องเรียน "สายตรวจระวังภัย"  ทีมข่าวอาชญากรรม 0-2338-3636-7  อีเมล [email protected] หรือเฟซบุ๊ก สายตรวจประชาชน หรืออาชญากรรมทันข่าว


 


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก โดยเสาวลักษ์ คงภัคพูน ศูนย์ข่าวขอนแก่น


 

Shares:
QR Code :
QR Code