เด็กเขตเมืองเสี่ยงอ้วนสูง
พบภาวะอ้วนในเด็กวัยเรียนอายุ 6-14 ปี แนะกินอาหารครบ 5 หมู่ ลดหวาน มัน เค็ม และออกกำลังกายทุกวัน
นายแพทย์ณรงค์ สายวงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังภาวะโภชนาการเด็กวัยเรียนอายุ 6–14 ปี โดยสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2555 โดยใช้ดัชนีน้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูง พบภาวะอ้วน ร้อยละ 17 ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดเป้าหมายเพื่อลดปัญหาภาวะอ้วนในเด็กวัยเรียนให้ต่ำกว่า ร้อยละ 15 ภายในปี 2560 และผลจากการเฝ้าระวังภาวะโภชนาการเด็กอายุ 6 – 14 ปี ในภาคการศึกษาที่ 2 ภาพรวมของประเทศพบว่าลดลงเหลือ ร้อยละ 8.6 แต่ในระดับจังหวัดและอำเภอโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมือง ยังพบว่ามีภาวะอ้วนสูงถึงร้อยละ 20 ดังนั้นการควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะอ้วน จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อมิให้ปัญหาขยายวงกว้างออกไปมากขึ้น
ทั้งนี้ ใน 1 วัน เด็กควรได้บริโภคอาหารครบ 5 หมู่ แต่ละหมู่ให้มีความหลากหลาย ลดอาหารหวาน มัน เค็ม และเพิ่มผักหลากสีในมื้ออาหารและมีผลไม้สดหลังอาหารทุกมื้อ หรือจะกินเป็นอาหารว่างแทนขนมขบเคี้ยวที่มีแต่แป้ง น้ำตาล และไขมันสูง และสนับสนุนให้เด็กดื่มนมทุกวัน ๆ ละ 2 แก้ว เด็กที่ยังไม่อ้วนให้ดื่มนมรสจืดแทนนมปรุงแต่รสต่าง ๆ แต่หากเด็กเริ่มอ้วนหรืออ้วนแล้วให้ดื่มนมพร่องมันเนยแทน ลดการซื้ออาหารที่ให้พลังงานสูง มีแป้ง ไขมันและน้ำตาล เป็นส่วนประกอบหลัก เช่น ขนมเบเกอรี่ต่าง ๆ พิชช่า เค้ก คุกกี้ รวมทั้งลดเครื่องดื่มประเภทน้ำหวาน น้ำอัดลม พร้อมทั้งส่งเสริมให้เด็กออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน ๆ ละ 60 นาที หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน ก็จะช่วยให้เด็กลดภาวะอ้วนและ มีสุขภาพดีได้” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
ที่มา: เว็บไซต์แนวหน้า
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต