เด็กชอบอ่านนิทานแต่ยังขาดหนังสือ
สสส.จับมือ เครือข่ายเสียงประชาชน สำรวจพบเด็กชอบอ่านนิทาน แต่กลับมีไม่เพียงพอ แนะรณรงค์ตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์หรืออ่านหนังสือที่เหมาะกับวัยตั้งแต่ช่วง 7-8 เดือนแรกของชีวิตจะยิ่งเห็นถึงพัฒนาการ
แฟ้มภาพ
แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายเสียงประชาชน (We Voice) ได้ดำเนินการสำรวจเรื่อง “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกับพัฒนาการด้านสติปัญญา ร่างกาย อารมณ์ และสังคมของเด็กเล็ก” โดยดำเนินการเก็บข้อมูลกับกลุ่มครู (179 คน) และผู้ปกครอง (882 คน) จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ในช่วงวันที่ 5-31 กรกฎาคม 2558 มีผลสำรวจสำคัญๆ เช่น ครูเด็กเล็ก 1 คน ต้องดูแลเด็กเฉลี่ย 16 คน จากเกณฑ์ที่เหมาะสมคือ 10 คน สื่อและกิจกรรมที่เด็กๆ ชื่นชอบมากที่สุด คือ สื่อหนังสือนิทาน/หนังสือต่างๆ แต่กลับพบว่ายังมีไม่เพียงพอ ปัญหาและอุปสรรคอื่นๆ ที่เป็นปัญหาสำคัญในการพัฒนาเด็ก เช่น พื้นที่ ตัวอาคารไม่เพียงพอ รองลงมาเป็นปัญหาขาดแคลนงบประมาณ พื้นที่เล่นของเด็ก และจำนวนครูที่ไม่เพียงพอ
นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า จากข้อมูลการสำรวจของ We voice ในครั้งนี้ เน้นย้ำให้เห็นว่า แม้รัฐและองค์กรด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยยอมรับว่า การพัฒนาศักยภาพมนุษย์และการพัฒนาสมองของคนเราเติบโตสูงสุดกว่า 80% ในช่วงปฐมวัย และงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษาชี้ชัดแล้วว่า การพัฒนาเด็กปฐมวัยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิต และสร้างความเสมอภาคด้านเศรษฐกิจและสังคมควบคู่กันไป แต่เรายังขาดแคลน มีการลงทุนที่ไม่เพียงพอ ทั้งการพัฒนาศักยภาพครู สื่อ พื้นที่ และกิจกรรมการพัฒนาเด็ก รวมไปถึงงบประมาณพัฒนาด้านต่างๆ
การสำรวจในครั้งนี้ยังพบปัญหาพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็ก เช่น การพูด พัฒนาการทางสติปัญญา และการเติบโตของร่างกาย ล้วนต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งแผนงานฯ ขอเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องควรได้ร่วมมือกันแก้ไข โดยเฉพาะควรเร่งใช้สื่อและเครื่องมือที่เข้าถึงง่าย ใช้ง่ายที่สุด แต่มีประสิทธิภาพสูงสุด และใช้งบประมาณไม่มาก ช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านการลงทุนตั้งแต่จุดเริ่มต้นของชีวิต
ถ้ารณรงค์ตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์หรืออ่านหนังสือที่เหมาะสมกับวัยตั้งแต่ช่วง 7-8 เดือนแรกของชีวิต ก็จะยิ่งเห็นผล โดยเฉพาะการพัฒนาด้านสมองและภาษา อันเป็นพื้นฐานในการพัฒนาทักษะอื่นๆ ส่วนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ขณะนี้ สสส. ให้ทุนสนับสนุนโครงการพัฒนาศักยภาพครูให้มีความรู้ในการใช้ยุทธศาสตร์ 3ดี คือ สื่อดี พื้นที่ดี และภูมิดี ในโครงการ มหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกว่า 300 ศูนย์ทั่วประเทศด้วยแล้ว
ที่มา : เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์