“เด็กจมน้ำ”บ่อยช่วงปิดเทอม

ที่มา : เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


พบ“เด็กจมน้ำ”บ่อยช่วงปิดเทอม  thaihealth


แฟ้มภาพ


“กรมควบคุมโรค” เผยช่วงปิดเทอมใหญ่ปี 2560 เพียงสองเดือนครึ่งมีเด็กจมน้ำเสียชีวิตมากถึง 127 ราย โดยมีเด็กจมน้ำ 2 คนขึ้นไปมากถึง 1 ใน 4 ของเหตุการณ์ที่มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตทั้งหมด  พร้อมขอให้ชุมชน โรงเรียน และผู้ปกครอง ช่วยกันระมัดระวังและเตือนเด็กๆ แม้จะเปิดเทอมแล้ว เด็กอาจชวนกันไปเล่นน้ำหลังเลิกเรียน  ประกอบกับช่วงหน้าฝนระดับน้ำเปลี่ยน ขอบบ่อลื่น เสี่ยงเด็กจมน้ำ


นายแพทย์เจษฎา  โชคดำรงสุข  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังการจมน้ำในเด็ก ของกรมควบคุมโรค พบว่าช่วงปิดเทอมใหญ่ที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม–14 พฤษภาคม 2560 รวม 75 วัน(สองเดือนครึ่ง) ข้อมูลเบื้องต้นมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิตมากถึง 127 คน (เพิ่มจากปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน ร้อยละ 18 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 30 ราย) โดยมีเด็กจมน้ำพร้อมกัน 2 คนขึ้นไปมากถึง 1 ใน 4 ของเหตุการณ์ที่มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตทั้งหมด และยังพบเด็กจมน้ำเสียชีวิตพร้อมกัน 3 คน ถึง 4 เหตุการณ์ ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร มหาสารคาม และนครราชสีมา  นอกจากนี้ จากการเฝ้าระวังข่าวเบื้องต้นในช่วงปิดเทอมพบว่ามีเหตุการณ์เด็กจมน้ำ 68 ครั้ง โดยมีถึง 28 ครั้ง (ร้อยละ 41) ที่มีสาเหตุจากการที่เด็กชวนกันไปเล่นน้ำเป็นกลุ่มเพื่อคลายร้อน


          จากข้อมูลยังพบว่ากลุ่มเด็กอายุ 5-9 ปี จมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด (ร้อยละ 49) รองลงมาคือ 10-14 ปี และเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ตามลำดับ สาเหตุการจมน้ำเสียชีวิตของเด็กเล็กเกือบทั้งหมด (ร้อยละ 93) เกิดจากการเผอเรอของผู้ปกครอง/ผู้ดูแลเด็ก การทำกิจกรรมบางอย่างเพียงระยะเวลาสั้นๆ เช่น ไปเข้าห้องน้ำ หยอดตา  ส่วนใหญ่กลุ่มเด็กโตอายุ 5 ปีขึ้นไป เกิดจากการเล่นน้ำมากที่สุด (ร้อยละ 65) รองลงมาคือพลัดตกลื่น (ร้อยละ 20) ช่วงเวลาที่เกิดเหตุมากสุด คือ 12.00-14.59 น. ซึ่งเป็นช่วงที่มีอากาศร้อนที่สุด ที่สำคัญเกือบครึ่งหนึ่งของเด็กที่จมน้ำ (ร้อยละ 49) เด็กอยู่กับเพื่อน


          นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อไปว่า ในช่วงนี้เป็นช่วงเปิดเทอมของเด็กๆ และเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ซึ่งแม้ว่าสถิติการจมน้ำของเด็กจะไม่สูงเท่ากับช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน แต่ก็พบว่ามีความเสี่ยงของการจมน้ำค่อนข้างสูงเนื่องจากระดับน้ำในแหล่งน้ำเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มีหญ้าปกคลุม มองเห็นขอบบ่อไม่ชัดเจน เสี่ยงต่อการพลัดตกลื่นได้ง่าย โดยเฉพาะช่วงหลังเลิกเรียนหรือวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ที่เด็กๆ อาจชวนกันไปเล่นน้ำกันเอง


          ดังนั้น ขอให้ชุมชน โรงเรียน ผู้ปกครอง ช่วยกันระมัดระวังและเตือนเด็กๆ ให้อย่าเดินหรือวิ่งเล่นใกล้ขอบบ่อ และช่วยกันสำรวจแหล่งน้ำเสี่ยงพร้อมทั้งทำสัญลักษณ์ ป้ายเตือนเพื่อให้สังเกตเห็นได้ชัดเจน และไม่ควรลงไปเล่นน้ำเพราะระดับน้ำ ความแรงของน้ำ และพื้นใต้น้ำ มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเนื่องจากฝนที่ตกลงมา  รวมถึงผู้ปกครองที่อาจพาบุตรหลานออกไปประกอบอาชีพตามแหล่งน้ำ เช่น หาปลา เก็บหอย เก็บผัก ไม่ควรปล่อยเด็กให้ลงไปในน้ำ และหากมีความจำเป็นที่ต้องให้เด็กลงไปในน้ำ ควรนำถังแกลลอนพลาสติกเปล่าผูกเชือกและสะพายแล่งไว้ที่ตัวเด็กตลอดเวลา และสอนให้เด็กรู้จักวิธีใช้ โดยนำมากอดไว้ที่บริเวณหน้าอก เพื่อช่วยในการพยุงตัว กรณีเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน


          “อีกมาตรการสำคัญที่ต้องยึดไว้ใช้ยามฉุกเฉิน  คือ “ตะโกน โยน ยื่น” ได้แก่  1.ตะโกนเรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วยและโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669  2.โยนอุปกรณ์ใกล้ตัวเพื่อช่วยคนตกน้ำ เช่น เชือก ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น  3.ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ  ประชาชนสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422” นายแพทย์เจษฎา กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code