เดือนแห่งการป้องกันมะเร็งเต้านมโลก
ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
มูลนิธิกาญจนบารมี ร่วมกับกรมประชาสัมพันธ์ จัดกิจกรรม “เดือนแห่งการป้องกันมะเร็งเต้านมโลก” โครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่ (Mammogram) ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส
ดร.นายแพทย์สมยศ ดีรัศมี ประธานมูลนิธิกาญจนบารมี กล่าวถึงการจัดกิจกรรมเนื่องในเดือนแห่งการป้องกันมะเร็งเต้านมโลก ตามโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านม โดยเครื่องเอ็กซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ (Mammogram) ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า มะเร็งเต้านมเป็นปัญหาสำคัญคุกคามต่อสุขภาพและเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในสตรีไทย และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของมะเร็งเต้านมที่แน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยง คืออายุมากกว่า 40 ปี เคยฉายรังสีรักษาบริเวณทรวงอกตอนอายุน้อยกว่า 30 ปี เคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน มีญาติพี่น้องสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม กลุ่มคนที่มีประจำเดือนมาเมื่ออายุน้อยหรือหมดประจำเดือน เมื่ออายุมากกว่า 55 ปี หรืออายุมากขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ดร.นายแพทย์สมยศ กล่าวอีกว่า การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การตรวจพบให้เร็วที่สุดตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ซึ่งทำได้ 2 วิธี คือ
1) การตรวจเต้านมด้วยตนเอง ซึ่งสามารถคลำพบก้อนที่โตประมาณ 1-2 เซนติเมตร ขึ้นไปได้ หากรักษาในระยนี้ ก็จะสามารถรอดชีวิตมีถึงร้อยละ 90 หากคลำพบก้อนขนาด 5 เซนติเมตรขึ้นไป อัตราการอยู่รอดมีเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น 2) การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์เต้านม (Mammography) จะสามารถพบก้อนได้ตั้งแต่ขนาด 2-3 มิลลิเมตรขึ้นไป หากพบในระยะนี้การรักษาจะหายเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะมะเร็งมีขนาดเล็กมากและยังไม่แพร่กระจายไปที่อื่น ซึ่งหากพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมจะได้ส่งต่อเข้ารับการรักษาตามระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กินผักและผลไม้ให้มากขึ้น ลดอาหารไขมัน และควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน จะช่วยป้องกันมะเร็งเต้านมได้