เดิ่นยิ้มเบ่งบาน ชวนเล่นเปลี่ยนโลก
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
แฟ้มภาพ
สธ.-สสส.-มพด. ผนึกภาคีเครือข่าย ชูนโยบายชวนเด็กไทย “เล่นเปลี่ยนโลก” จัดงานเทศกาลเดิ่นยิ้มเบ่งบาน ปิดเมืองย่าโม เล่นอิสระพัฒนาเด็กปฐมวัยไทย ด้วยโมเดล 3F : Family Free Fun เล่นอิสระ เล่นอย่างมีความสุข เล่นสนุก เล่นกับครอบครัว
เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2563 ที่โรงแรมฟอร์จูน ราชพฤกษ์ อำเภอเมือง จ.นครราชสีมา ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในการประกาศนโยบาย “เด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลก” โดยมีกรมอนามัย มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) สมาคมการเล่นนานาชาติ (International Play Association IPA) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม นอกจากนี้ยังมีพิธีเปิด เทศกาลเดิ่นยิ้มเบ่งบาน ตอน “เล่นเปลี่ยนโลก” เพื่องานการขับเคลื่อนงานเล่นอิสระในประเทศไทย ที่ลานย่าโม จ.นครราชสีมา โดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสสส. เป็นประธานพิธีเปิด มีนางปิยะฉัตร อินสว่าง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และเด็กๆ จำนวนมากเข้าร่วมกิจกรรม
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เห็นความสำคัญของการพัฒนาเด็กปฐมวัยไทยในทุกระดับ โดยการเติมเต็มศักยภาพของเด็กปฐมวัยในเขตพื้นที่เมืองและส่งเสริมพัฒนาเด็กปฐมวัยในเขตพื้นที่ทุรกันดาร ให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสามารถ เป็นคนไทยคุณภาพในการพัฒนาประเทศในอนาคต จึงได้ร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก สมาคมการเล่นนานาชาติ สสส.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินงานโครงการ “เด็กไทย เล่นเปลี่ยนโลก” เพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยไทย ผ่านการเล่นที่เป็นการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของเด็กปฐมวัย ดำเนินงานตามแนวคิด “เด็กไทย เล่นเปลี่ยนโลก Model” ซึ่งเป็นการเล่นรูปแบบใหม่ที่พัฒนาขึ้นด้วย concept 3F ได้แก่ Family Free Fun เล่นอิสระ เล่นอย่างมีความสุข เล่นสนุก เล่นกับครอบครัว เพื่อพัฒนาต้นแบบ “เด็กไทย เล่นเปลี่ยนโลก”
ประกอบด้วย 4 กิจกรรมสำคัญ ได้แก่ 1.พัฒนาplay worker หรือผู้อำนวยการเล่น ได้แก่ ครูผู้ดูแลเด็ก พ่อแม่ ผู้ปกครอง เจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดยปรับทัศนคติการเล่นเพื่อเพิ่มทักษะด้าน SOFT SKILL ให้กับเด็ก 2. พัฒนากระบวนการเล่น เน้นอิสระ ครอบครัวมีส่วนร่วม 3.พื้นที่เล่น (play space) ให้เป็นพื้นที่เล่นสร้างสรรค์ ตามบริบทพื้นที่ (space) สภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กต้องกระตุ้นการเรียนรู้ บรรยากาศในการเล่น ความรักและความอบอุ่น สถานที่ปลอดภัย (Safety) และเข้าถึงได้ง่าย (Accessibility) และ 4. การสร้างหน่วยบริหารจัดการการเล่น ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน ในการดูแลการเล่นให้เกิดความต่อเนื่องและคงอยู่ตลอดไป
“สธ.มีเป้าหมายขับเคลื่อนให้เกิดพื้นที่ต้นแบบ “เด็กไทย เล่นเปลี่ยนโลก” ที่ได้รับการพัฒนาครบ 4 องค์ประกอบร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ในพื้นที่นวัตกรรมนำร่อง 20 จังหวัด และพัฒนาต้นแบบ “เด็กไทย เล่นเปลี่ยนโลก” ในศูนย์พัฒนาเด็ก จำนวน 12 แห่ง และจังหวัดละ 1 แห่ง จำนวน 77 แห่ง เพื่อสร้างความรอบรู้และปรับทัศนคติพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูผู้ดูแลเด็ก และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ได้เห็นความสำคัญของการเล่นอิสระ อย่างมีความสุข เล่นสนุก เล่นกับครอบครัว และเกิดกลุ่มอำนวยการเล่นโดยชุมชนมีส่วนร่วมให้การเล่นมีความต่อเนื่องและยั่งยืน” ดร.สาธิต กล่าว
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า โดยธรรมชาติเด็กทุกคนต้องการการเล่น และเล่นอย่างมีอิสระ โดยที่เด็กเป็นคนออกแบบเอง เมื่อเด็กได้เล่น โลกภายในของเด็กจะเปลี่ยน เกิดความสุข จินตนาการเชื่อมโยงกับโลกภายนอกอย่างไร้ขอบเขต ก่อเกิดความรัก เอื้อเฟื้อแบ่งปัน และสามารถออกแบบสังคมเล็กๆ ที่เป็นความสุขได้ด้วยตัวเอง อีกทั้งการเล่นของเด็กยังเป็นการส่งเสริมให้เด็กมีการขยับร่างกายโดยเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 5 ปี เป็นวัยที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกาย หรือมีกิจกรรมทางกาย ทั้งกับพ่อแม่ เพื่อน หรือด้วยตนเอง สำหรับวัย 1 – 5 ปี ควรให้เคลื่อนไหวร่างกายอย่างน้อย 180 นาทีต่อวัน เน้นทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐาน เช่น การเดิน วิ่ง เขย่งกระโดด ทรงตัว ปีนป่าย หรือช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน
โดยพ่อแม่ควรสนับสนุนให้เด็กได้เลือกเล่นตามความชอบ เด็กก็จะเกิดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้ ต้องคำนึงและดูแลความปลอดภัยของลูกในขณะเล่นด้วย สำหรับเด็กวัยเรียนและวัยรุ่น อายุ 6-17 ปี ควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางถึงหนักอย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน โดยระดับปานกลาง เช่น ปั่นจักรยาน เล่นกีฬา ส่วนแบบหนัก เช่น วิ่งเร็ว กระโดดสูง ว่ายน้ำเร็ว การละเล่นพื้นบ้านต่าง ๆ หรือวิ่งเล่นอิสระ
“การเล่นของเด็กปฐมวัยและวัยประถมศึกษามีความสำคัญและมีคุณค่า เพราะการเรียนรู้ของเด็กวัยนี้ที่เหมาะสมคือ การเรียนรู้ผ่านการเล่น และการเรียนรู้อย่างมีความสุข การเล่นที่ดีจะส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการที่ดี ทั้งทางร่างกาย จิตใจ ปัญญา อารมณ์ สังคม มีวินัย มีการวิเคราะห์ เกิดความคิดสร้างสรรค์ เรียนรู้การปรับตัว และพัฒนาการอารมณ์ความสัมพันธ์กับผู้อื่น” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ทางสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งเทคโนโลยี วิถีชีวิตที่เร่งรีบแข่งขันสูง เด็กถูกคาดหวังและบีบคั้นให้แข่งขันด้านการศึกษา ต้องติวเข้มเพื่อเข้าเรียนตั้งแต่อายุยังน้อย และมักใช้เวลากับสื่อออนไลน์มือถือ แท็บเล็ต ไม่ต่ำกว่าวันละ 3-4 ชั่วโมง ทำให้การเล่นอิสระหรือเล่นอย่างธรรมชาติน้อยลง ประกอบกับพ่อแม่ผู้ปกครองและผู้ใหญ่ในสังคม ไม่เข้าใจ ไม่เห็นความสำคัญของการเล่นอิสระ ปิดกั้นโอกาสในการเล่นอิสระของเด็ก ขาดความรู้ในการออกแบบพื้นที่เล่นอย่างอิสระ เพื่อการพัฒนาเด็กเชิงบวกส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของเด็กในหลายด้าน เช่น ปัญหาการขาดกิจกรรมทางกาย ภาวะโรคอ้วน ความเครียด ปัญหาการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและคนรอบข้าง การเข้าสังคม ฯลฯ
สสส.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กทุกช่วงวัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็กปฐมวัย จึงสนับสนุนการทำงานของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กและภาคีเครือข่ายการเล่น จนเกิดองค์ความรู้เรื่องการเล่นอย่างอิสระ หลักสูตรฝึกอบรม Play Worker หรือผู้ดูแลการเล่น เครือข่ายทีมวิทยากร พื้นที่ต้นแบบ และภาคีในระดับนานาชาติ ซึ่ง สสส. และภาคีเครือข่ายพร้อมที่จะหนุนเสริมการขับเคลื่อนโยบายเด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลกในครั้งนี้
“การเล่นอย่างอิสระ หรือ Free Play เป็นงานสำคัญของเด็กเปรียบเสมือนวัยผู้ใหญ่ที่ต้องมีการทำงาน สสส.เห็นความสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องการเล่นสำหรับเด็กและสนับสนุนเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เด็กมีโอกาสเล่นอย่างอิสระและเหมาะสมกับวัยในพื้นที่ธรรมชาติ เพราะการเล่นมีส่วนที่ช่วยเสริมทักษะด้านวิชาการและความสร้างสรรค์ รู้จักการแก้ปัญหา เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น มีความเชื่อมั่นและภูมิใจในตนเอง เด็กจะผูกพันกับธรรมชาติและชุมชน สุขภาพร่างกายแข็งแรง เมื่อเด็กได้เล่น คลื่นสมองและประสาทจะถูกกระตุ้น เด็กจะมีความสุข สนุกสนานในการเรียนรู้ ที่สำคัญการเล่นสามารถจะส่งเสริมการใช้เวลาอย่างสร้างสรรค์ของเด็กในยุคศตวรรษที่ 21 เป็นทางเลือกในลดการใช้สื่อจอใสและลดการติดเกมอีกด้วย” ดร.สุปรีดา กล่าว