เดินหน้า MOU ควบคุมโฆษณาอวดสรรพคุณเว่อร์
อย. จับมือ วช. ลงนาม mou ส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยการผลิตยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพให้ได้คุณภาพมาตรฐาน เพิ่มความปลอดภัยให้ผู้บริโภค อย. ขณะที่งานด้านป้องกันและปราบปราม จัดประกวดภาพยนตร์สั้น รณรงค์อย่าหลงเชื่อการโฆษณาเกินจริง หลังเชือดสินค้าอวดอ้างสรรคุณกว่า 61 รายการ
น.พ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการ คณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากการที่อย.เป็นหน่วยงานที่มีบทบาท สำคัญในการควบคุม กำกับ และติดตามยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพให้ได้มาตรฐาน รวมทั้งเป็นไปตามกฎหมายและมาตรการที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับการส่งเสริมการศึกษา วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยี เพื่อผลิตยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัย จึงเล็งเห็นความสำคัญของระบบการวิจัยและพัฒนาด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพในทุกมิติ ทุกระดับ อย.จึงได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแล และกำกับทิศทางงานวิจัยของชาติเพื่อ การพัฒนาและแก้ไขปัญหาของประเทศ ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อพัฒนาและดำเนินงานยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการส่งเสริมสนับสนุนการวิจัย และพัฒนาด้านการผลิตยาและผลิตภัณฑ์ สุขภาพอย่างครบวงจรขึ้น
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำข้อมูลเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนาด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของประเทศ ให้ทันต่อสถานการณ์โลกและความต้องการของประเทศ รวมทั้งเพื่อเสนอนโยบายยุทธศาสตร์และข้อมูลต่อฝ่ายบริหาร/รัฐบาล องค์การต่างๆ อันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาและการพัฒนาอุตสาหกรรมยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของประเทศอย่างยั่งยืน รวมทั้งเกิดการพัฒนาวิทยาการและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องด้วย ตลอดจนเพื่อพัฒนาความร่วมมือแบบบูรณาการในการพัฒนาและดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนาด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของประเทศต่อไป
“การร่วมลงนามในบันทึก ข้อตกลงการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาครั้งนี้ อย. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าอุตสาหกรรมการผลิตยา อาหาร เครื่องมือ แพทย์ เครื่องสำอางและวัตถุอันตราย ที่ผลิตขึ้นในประเทศ จะเกิดการวิจัยพัฒนาในเชิงลึก ทั้งด้านคุณสมบัติ ด้านคุณภาพ ความปลอดภัยและประสิทธิผล ตลอดถึงกระบวนการในการขึ้นทะเบียน การควบคุม กำกับ และติดตามก่อนและออกสู่ตลาด สามารถดำเนินการอย่างเป็นระบบ ครอบคลุมและสัมฤทธิผล เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ และให้ประชาชน ได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐานและปลอดภัย ที่สำคัญเป็นการประสานความร่วมมือระหว่าง อย.กับ วช. ซึ่งเป็นองค์กร ที่สนับสนุนและพัฒนาความสามารถของ ผู้เชี่ยวชาญในการดำเนินงานวิจัยที่มีประสิทธิภาพด้วย”
น.พ.บุญชัย กล่าวว่า อย.จะจัดให้มีการเปิดตัวกิจกรรมประกวดภาพยนตร์สั้น ในหัวข้อ “อย่าหลงเชื่อง่าย” ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมโครงการรณรงค์อย่าหลงเชื่อง่าย ปีงบประมาณ พ.ศ.2556 ภายใต้แนวคิด “เตือนภัยผ่านเลนส์”โดยมีเงินรางวัล พร้อมโล่และใบประกาศเกียรติคุณ จำนวน 5 รางวัล ซึ่งผู้ที่ชนะการประกวด รางวัลที่ 1 จะได้รับเงินสด 50,000 บาท รางวัลที่ 2 เงินสด 25,000 บาท รางวัลที่ 3 เงินสด 10,000 บาท และรางวัลชมเชย 2 รางวัลรางวัลละ 5,000 บาท รวมเงินรางวัลทั้งสิ้น 95,000 บาท โดยผู้ที่สนใจสามารถส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้-วันที่ 31 พฤษภาคม 2556 และ จะมีการประกาศผลผู้เข้ารอบ 5 ทีมสุดท้าย จากผลงานทั้งหมดที่ส่งเข้ามา ในวันที่ 15 มิถุนายน 2556 และตัดสินผลการประกวด ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2556 โดยผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดใบสมัครและดูผลการประกวดได้ที่ facebook fanpage : fda thai หรือทางเว็บไซต์ www.fussyhome. com
โดยกิจกรรมในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อต้องการให้ผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมโดยการ ถ่ายทอดความคิด พฤติกรรม ผลกระทบ และรณรงค์เตือนภัยมิให้ผู้บริโภคหลงเชื่อ การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่โอ้อวดเกินจริง ทั้งที่เกิดขึ้นกับตนเองหรือบุคคลใกล้ตัวผ่านทางเลนส์กล้องบันทึกภาพเคลื่อนไหวโดยนำประเด็นปัญหาที่ผู้บริโภค มักพบเจอจากการหลงเชื่อโฆษณาที่โอ้อวด เกินจริง ไม่ว่าจะเป็นกาแฟอ้างลดความอ้วน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเก้าอี้ไฟฟ้า สถิตที่อ้างรักษาโรค เครื่องสำอางอ้างทำให้ หน้าขาว ยาแผนโบราณและเครื่องดื่มที่โฆษณาอวดอ้างว่าเสริมสุขภาพด้วยสารอาหารต่างๆ โดยอ้างรักษาโรคเรื้อรังหรือ โรคร้ายแรง ฯลฯ รวมทั้งประเด็นที่ผู้บริโภคยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับสรรพคุณของผลิตภัณฑ์นั้นๆ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และเพื่อให้ผู้บริโภครู้เท่าทันโฆษณา ไม่ว่าจะพบ โฆษณาในสื่อใด ก็สามารถวินิจฉัยได้ว่าข้อมูลใดเป็นข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ เพื่อให้เกิดพฤติกรรมการบริโภคที่ถูกต้อง เหมาะสม และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
ล่าสุดที่ผ่านมา อย.ได้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติต่างๆ ในช่วงเดือนมกราคม 2556 ได้แก่ พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 จำนวน 28 ราย พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 จำนวน 29 ราย ล่าพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2531 จำนวน 2 ราย และพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2535 จำนวน 2 ราย รวมทั้งสิ้น 61 ราย คิดเป็นมูลค่า 604,200 บาท
ทั้งนี้จากการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติอาหาร ได้เปรียบเทียบปรับผู้กระทำผิด ในกรณีต่างๆ ซึ่งพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร ยา เครื่องสำอาง และเครื่องมือแพทย์ทางสื่อต่างๆ ได้แก่ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ และเว็บไซต์ที่มี แนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยโฆษณาในลักษณะโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง และไม่ได้ขออนุญาตโฆษณา เช่น ผลิตภัณฑ์ เสริมอาหาร โฆษณาในลักษณะอ้างว่าช่วยยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานินที่ดำคล้ำ ทำให้ผิวขาวเปล่งปลั่ง อ้างว่าช่วยเพิ่มขนาดหน้าอก ยกกระชับ อวดอ้างลดความอ้วน ลดไขมัน กระชับสัดส่วน ลดคอเลสเตอรอลไม่เสี่ยงโรคหัวใจ เบาหวาน เป็นต้น
อีกทั้งยังพบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแสดงฉลากไม่ถูกต้อง เช่น ไม่แสดงข้อความ “ควรกินอาหารหลากหลายครบ 5 หมู่ ในสัดส่วนที่เหมาะสม เป็นประจำ” บางผลิตภัณฑ์มีการระบุคำว่า “white” ไว้ใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญของอาหารว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทำให้ผิวขาวได้ ซึ่งเป็นการโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาตและเข้าข่ายหลอกลวงโอ้อวดเกินจริงทั้งสิ้น เพราะผลิตภัณฑ์อาหารต้องไม่โฆษณาสรรพคุณในทางยาดังที่โฆษณา และในส่วนของผลิตภัณฑ์ยา โฆษณาในลักษณะช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดสรรพคุณครอบจักรวาล และโฆษณาขายยาโดยมีการรับรองหรือยกย่องสรรพคุณยาโดยบุคคลอื่น
นอกจากนี้ ยังพบการขายยาอันตรายในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ ด้านผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ พบการโฆษณาร้อยไหมโดยไม่ได้รับอนุญาต ระบุข้อความ ร้อยไหม ยกกระชับ สวยสั่งได้ ถือเป็นการโฆษณา โดยไม่ได้รับอนุญาต และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง โฆษณาโดยใช้ข้อความ ที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง เช่น อ้างช่วยลบเลือนฝ้า-จุดด่างดำ ลดริ้วรอยแห่งวัยที่สะสมตลอด 1 ปี ได้ภายในเวลา 6 สัปดาห์ เป็นต้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง