เดินหน้าสู่สังคมสูงวัย สารพันปัญหายังรอให้แก้

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


เดินหน้าสู่สังคมสูงวัย สารพันปัญหายังรอให้แก้ thaihealth


ปัจจุบัน "ผู้สูงอายุ" เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศไทยมากขึ้นทุกขณะ เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์และสาธารณสุข ทำให้ประชากรมีอายุขัย ยืนยาวขึ้น จำนวนผู้สูงอายุจึงเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ


รายงาน "An Aging World : 2015" โดยหน่วยงาน United States Census Bureau สหรัฐอเมริกา ระบุว่า ในปี 2555 ที่โลกมีประชากรรวม 7 พันล้านคน ในจำนวนนี้ร้อยละ 8 หรือ 562 ล้านคน เป็นผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และคาดว่าช่วงปี 2568 – 2593 ประชากรวัยดังกล่าวจะเพิ่มสูงขึ้นไปอยู่ที่ 1,600 ล้านคน


ทำให้หลายประเทศในโลกรวมทั้งประเทศไทย ต้องเตรียมการเพื่อรองรับและให้การดูแลประชากรกลุ่มนี้ ดังที่ ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ "สูงวัยสร้างเมือง" ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ว่า ในปี 2558 ประชากรไทยมีจำนวน 65.1 ล้านคน ในจำนวนนี้มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป 11 ล้านคน หรือคิดเป็น ร้อยละ 16 ของประชากรทั้งหมด


"จากข้อมูลสถานการณ์ผู้สูงอายุในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ 2,618 แห่ง มีประชากรจำนวน 8,181,181 คน พบว่า ในปี 2560 มีผู้สูงอายุ 18.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ โดยภาคเหนือมีประชากรสูงวัยมากที่สุด 22 เปอร์เซ็นต์ ภาคกลาง 20 เปอร์เซ็นต์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17 เปอร์เซ็นต์ และภาคใต้ 16 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉลี่ยพบว่า 20 เปอร์เซ็นต์ มีปัญหาเรื่องความดันโลหิตสูง และมีปัญหาสุขภาพด้านอื่นแทรกซ้อนที่ต้องไปหาหมอเป็นประจำ" ดวงพร ระบุ


เดินหน้าสู่สังคมสูงวัย สารพันปัญหายังรอให้แก้ thaihealth


จากสถานการณ์โครงสร้างประชากรที่ผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น ทำให้แต่ละพื้นที่ต้องหาแนวทางเตรียมพร้อม ด้วยหวังว่าให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมีคุณค่า นัยนา ศรีเลิศ ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) คอรุม จ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า ประชากรใน ต.คอรูม ทุกๆ 100 คน จะมี ผู้สูงอายุ 20 คน และจากผู้สูงอายุ 20 คน จะมี 4 คน ที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน ซึ่งจะเป็นผู้สูงอายุที่ ติดสุรา ป่วยติดเตียง เป็นต้น จึงเริ่มต้นจากการทำโรงเรียน ผู้สูงอายุ หลักสูตร 3 ปี และยังมีการส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุ


เช่นเดียวกับ วณิษฐา ธงไชย ผู้อำนวยการ กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม จ.ยโสธร กล่าวว่า ในชุมชนมีการทำระบบการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รวมกลุ่ม จึงเกิดโรงเรียนผู้สูงอายุ และการส่งเสริมอาชีพให้กับผู้สูงอายุ เช่น การทำปุ๋ยอินทรีย์ การปลูกผักปลอดสารพิษ ผู้สูงอายุจึงมีความสุข โดยสิ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จ คือ "ความร่วมมือของชุมชน" เพื่อบริหารจัดการโดยคนในชุมชนเอง


ด้าน อัญชนา เตชะอำนวยวิทย์ หัวหน้าศูนย์บริการสาธารณสุข เทศบาลตำบล (ทต.) บ้านแฮด จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ต.บ้านแฮด เป็นชุมชนกึ่งเมือง กึ่งชนบท มีโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ ซึ่งผู้สูงอายุจะอยู่บ้านส่วนลูกหลานออกไปทำงานในเมือง โดยพบผู้สูงอายุในพื้นที่ ร้อยละ 14.7 หลายรายมีปัญหาเรื่องสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีประชากรวัยที่จะก้าวสู่การเป็นผู้สูงอายุในอีกไม่เกิน 5 ปีข้างหน้า ร้อยละ 25.8


อัญชนา ระบุว่า จุดเด่นของ ทต.บ้านแฮด คือ "การพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะ" อย่าง ต่อเนื่อง เข้าถึงได้รวดเร็ว จัดการงบประมาณถูกต้องและชัดเจน และมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยมี "หมอ ชาวบ้าน" อาสาช่วยดูแลผู้สูงอายุและเป็นผู้นำทางด้านจิตใจให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งทำให้ผู้สูงอายุ "มีความสุขกายสบายใจ" ในการใช้ชีวิต เพราะจะหวังความช่วยเหลือจากภาครัฐส่วนกลางอย่างเดียวคงไม่ได้


"สิ่งหนึ่งที่เราช่วยได้ก็คือ ช่วยดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวของตนเองก่อน เพื่อไม่ให้เป็นภาระของสังคม ทั้งช่วยดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจ ตอบแทนบุญคุณที่ท่านได้เลี้ยงดูเรามาจนโต ไม่ทอดทิ้งท่านให้อยู่ตามลำพัง หรือต้องเป็นภาระของใครคนใดคนหนึ่ง" อัญชนา กล่าว


เดินหน้าสู่สังคมสูงวัย สารพันปัญหายังรอให้แก้ thaihealth


อีกด้านหนึ่ง ในเวทีเสวนา "ผู้สูงอายุถูกละเมิด…ใครดูแล!!" ณ รร.สุโกศล ถ.ศรีอยุธยา กรุงเทพฯ พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) เสนอแผนปฏิรูปงานด้านผู้สูงอายุ 6 ประการ คือ 1.ขับเคลื่อนนโยบายเชิงรุก เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง ทบทวนความจำเป็นในการปรับปรุงอำนาจหน้าที่ขององค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบคือ คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 รวมถึงกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ


2.พิจารณาแนวทางการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีบุคลากรที่ทำหน้าที่คุ้มครองหรือพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุตาม เช่น การแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 หรือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในประเด็นความสามารถของบุคคล 3.พิจารณาเรื่องการทบทวนหรือปฏิรูปการคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุของไทย เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองผู้สูงอายุขององค์การสหประชาชาติ (UN) โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมสมาชิกในครอบครัว ชุมชน ระบบอาสาสมัคร องค์กรภาคประชาสังคม หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น


4.เสริมสร้างศักยภาพให้ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะบุคลากรด้านสังคมสงเคราะห์ผู้สูงอายุ ให้มีความรู้ มีทักษะ ในการให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิ์ 5.พัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลด้านการละเมิดสิทธิ์ ผู้สูงอายุให้เป็นระบบหมวดหมู่ เนื่องจากการละเมิดสิทธิ์ ผู้สูงอายุเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน ดังนั้นจำเป็นต้องพัฒนาระบบฐานข้อมูลให้ได้มาตรฐาน น่าเชื่อถือ


6.เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน สังคม ให้เกิดระบบคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ ด้วยการรณรงค์กลไกสังคมตั้งแต่ครอบครัว ชุมชนท้องถิ่น สังคม ไปจนถึงประเทศโดยรวม โดยผ่านระบบการศึกษา ศาสนา สื่อสารมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรสมาคมวิชาชีพ เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความรู้ความเข้าใจ มีพลังจากการมีส่วนร่วมในการสร้างความตระหนัก ยกระดับความเข้าใจ และสร้างปลูกจิตสำนึกต่อสังคมถึงความรุนแรงต่อผู้สูงอายุเป็นประเด็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ปัญหา เอาใจใส่ในระดับสังคมโดยรวม


สำหรับความเคลื่อนไหวของรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายผู้สูงอายุในรอบปี ล่าสุด 7 พ.ย. 2560 มีรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแนวทางการดำเนินโครงการ "บริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเข้ากองทุนผู้สูงอายุโดยสมัครใจ" เพื่อให้เงินช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย เริ่มตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2560 เป็นต้นไป โดยให้ผู้สูงอายุที่มีฐานะดี "เสียสละ" ไม่รับเบี้ยยังชีพ ซึ่งเงินส่วนนี้จะนำไปสมทบให้กับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยแทน ผ่านการยื่นความจำนง ณ ที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่ ก็ต้องตามดูกันต่อไปว่าจะได้ผลมากน้อยเพียงใด?


องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ให้นิยามสังคมสูงวัยไว้ 3 ระยะดังนี้ 1.สังคมสูงวัย มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ 2.สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ และ 3.สังคมสูงวัยอย่างสุดยอด มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่ง "สภาพัฒน์" สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ ภายในปี 2564

Shares:
QR Code :
QR Code