เดินหน้าสานพลัง สร้างนวัตกรรมท้องถิ่น สร้าง “สุขภาวะชุมชน” ปูรากฐานทางออกประเทศยั่งยืน
ข้อมูลจาก : เวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน ปี 2567” วาระ : ชุมชนท้องถิ่นร่วมแก้ปัญหาประเทศ”
ภาพโดย พงศ์ศุลี จีระวัฒนรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
“ชุมชน” ยังคงเป็นพลังและเป็นทุนทางสังคมที่สำคัญในการร่วมแก้ปัญหาประเทศ
โดยหากชุมชนได้รับการส่งเสริมให้มีความเข้มแข็งในการจัดการตนเอง จะเป็นรากฐานสำคัญของการแก้ปัญหาต่าง ๆ ของสังคมและประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็น การลดความเหลื่อมล้ำ สามารถรับมือกับวิกฤต ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต และนำไปสู่การสร้างสุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืนได้
เพื่อหนุนเสริมความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ จึงจัดเวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน ปี 2567” วาระ : ชุมชนท้องถิ่นร่วมแก้ปัญหาประเทศ” ขึ้น นัยหนึ่งเพื่อมุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น ด้วยการเสริมศักยภาพ การสานพลัง สร้างนวัตกรรม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากองค์ความรู้ และประสบการณ์ของเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพทั่วประเทศ
ท้องถิ่นเข้มแข็ง ก้าวสำคัญสร้างสุขภาวะ
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2554 สสส. ได้จัดเวทีขึ้นครั้งแรกในชื่อว่า “เวทีฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย” โดยมีการรวมตัวร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมประกาศปฏิญญาเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีนี้เป็นปีที่ 13 ของการจัดงาน
“เวทีนี้เป็นการแสดงพลังและศักยภาพของชุมชนท้องถิ่น ในการพัฒนามุ่งสู่การใช้ความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นเป็นฐานในการจัดการกับสุขภาวะชุมชน การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน และการคำนึงถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน เกิดเป็น ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ซึ่งเป็นฐานสำคัญในการร่วมแก้ปัญหาต่าง ๆ ของประเทศ “
สำหรับในปีนี้มีผู้เข้าร่วม 5,725 คน ทั้ง Onsite และ Online ซึ่งการจัดงานมีเป้าหมาย 1. สานพลังเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่และภาคีสร้างเสริมสุขภาพ โดยชุมชนท้องถิ่น องค์กรเอกชน องค์กรสาธารณประโยชน์ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ 2. สร้างความตระหนักรู้ต่อสถานการณ์สำคัญ อันนำไปสู่การป้องกัน แก้ไขปัญหาของชุมชนท้องถิ่น และประเทศ 3. แลกเปลี่ยนเรียนรู้ปฏิบัติการสุขภาวะชุมชน สู่เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของ สสส. 4. ขยายผลแนวคิด แนวทางที่เป็นอัตลักษณ์ในการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพโดยใช้พื้นที่เป็นฐานในการบูรณาการ
ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันชุมชนท้องถิ่นมีความสำคัญยิ่ง เพราะในสมรภูมิสุขภาพที่ประเทศไทยผ่านการต่อสู้มาแล้วถึงสามยุค ยุคที่ 1 คือ โรคติดเชื้อ ซึ่งต่อสู้ด้วยวิทยาการเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยุคที่ 2 เป็นโรคจากพฤติกรรม ความดัน เบาหวาน หัวใจ การใช้ระบบบริการ หรือวิทยาการทางการแพทย์อย่างเดียว ไม่สามารถเอาชนะได้ เพราะเกิดจากศัตรูร้ายคือจิตใจเราเอง และขณะนี้เราอยู่ในยุคที่ 3 โรคยุคสังคมป่วย เกิดจากการเป็นสังคมบริโภคนิยมกระตุ้นเร่งเร้าให้เราบริโภคสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และเข้าถึงเด็กและเยาวชนง่ายขึ้น
“ชุมชนท้องถิ่นจำเป็นต้องรวมพลังในการร่วมแก้ปัญหา ด้วยบทบาท ราชการเป็นทัพนำ ท้องถิ่นคือทัพหนุน” ผู้จัดการ สสส. กล่าว
หนุนท้องถิ่นเข้มแข็ง แก้ปัญหาถูกที่ถูกทาง
ที่ผ่านมา สสส. ทำงานผ่านเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ 3,618 แห่งทั่วประเทศ ขับเคลื่อนสร้างการมีส่วนร่วม สร้างการเรียนรู้ สร้างการเปลี่ยนแปลง โดยการใช้ข้อมูลพื้นที่เป็นฐานในงานวิจัยชุมชน ด้วยการเก็บ วิเคราะห์ ใช้งาน และเป็นเจ้าของ ผ่าน 4 องค์หลัก ท้องถิ่น ท้องที่ ภาครัฐ องค์กรชุมชน ผ่านประเด็นสุขภาวะ อาทิ อาหารปลอดภัย ปลูกผักกินเองในครัวเรือน เศรษฐกิจชุมชน สร้างอาชีพระดับครัวเรือน ส่งเสริมกิจกรรมทางกายทุกช่วงวัย จัดการสิ่งแวดล้อม สุขภาพชุมชนแบบมีส่วนร่วม เป็นต้น
ปัจจุบันเกิดชุมชนท้องถิ่นที่สามารถจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน และสามารถแก้ไขปัญหาในระดับท้องถิ่นได้ทั่วประเทศไทย โดย “เวทีสานพลังชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง” เป็นอีกหนึ่งกลไกที่ก่อให้เกิดการสานพลังขับเคลื่อนและสร้างปึกแผ่นความร่วมมือระหว่างเครือข่าย
นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คนที่ 2 กล่าวถึงสถานการณ์ของประเทศไทยในวันนี้ ที่กำลังเผชิญและต้องรวมเดินหน้าฝ่าฟันนซึ่งเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก นั่นคือ ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมที่มีประชากร “แก่และจน” อันดับต้น ๆ ของโลก โดยปัจจุบันคนไทยประสบปัญหาสุขภาพ จากพฤติกรรมสุขภาพมากมายที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งในประเทศทั่วโลกระบุว่าประเทศที่เจริญล้วนมีการปกครองท้องถิ่นเข้มแข็ง หากแต่เศรษฐกิจชุมชนรากฐานจะเจริญได้นั้น เรื่องสุขภาพสำคัญที่สุด
หากองค์กรปกครองท้องถิ่นมีศักยภาพสูง จะเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงสังคมและเศรษฐกิจรากหญ้า จึงเป็นเสมือนการระเบิดจากภายใน สร้างภูมิคุ้มกันให้ชุมชน การขับเคลื่อนงานสุขภาวะ ที่ สสส. ดำเนินการร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่นั้น เป็นข้อพิสูจน์ว่า “ชุมชนท้องถิ่นท้องที่เข้มแข็ง” เป็นฐานสำคัญในการร่วมแก้ปัญหาต่าง ๆ ของประเทศ
“เห็นชัดว่าโรงพยาบาลดีอย่างไร หมอเก่งอย่างไร เข้าถึงบริการดีอย่างไรก็ทำให้สุขภาพดีขึ้นเพียง 20% ดังนั้น ต้องอาศัยทุนทางสังคมมาช่วยป้องกันปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ ซึ่งท้องถิ่นมีกลไกหลายด้านที่จะสร้างมาตรการในการออกข้อบังคับชุมชนหรือส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งเสมือนเป็นการแก้ปัญหาให้ถูกที่ทาง
“ขอชื่นชมการทำงานของ สสส. เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ได้ร่วมกันจัด “เวทีสานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน” ปีที่ 13 ซึ่งถือเป็นพลังสำคัญในการใช้ทุนทางสังคม เสริมศักยภาพของท้องถิ่นร่วมแก้ปัญหาของชุมชน ตั้งแต่ระดับพื้นที่สู่ระดับประเทศ”
ท้องถิ่นคือ“โซ่ข้อกลาง” พัฒนาประเทศ
ขณะที่ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ประธานกรรมการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ปี 2565-2570 และประธานกรรมการแพลตฟอร์ม Youth In Charge กล่าวว่า ชุมชนท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดความยั่งยืนในระดับประเทศ ดังนั้นโจทย์ของการสร้างสุขภาวะชุมชนจึงเป็นสิ่งที่ท้าทาย จำเป็นต้องสร้างสุขภาวะเชิงระบบที่ครอบคลุม คือ 1. สุขภาวะของบุคคล (Individual Wellbeing) 2. สุขภาวะสังคม (Social Wellbeing) 3. สุขภาวะของสภาพแวดล้อม (Planetary Wellbeing)
“การบูรณาการงานสร้างเสริมสุขภาพโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน ต้องอาศัยชุมชนท้องถิ่นเป็น “โซ่ข้อกลาง” เป็นแกนกลางสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน (Sustainable Development Goals: SDGs) ผ่านมิติของมั่นคงทางเศรษฐกิจ อาชีพ ที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์บุคคล ครอบครัว กับภูมิภาค ประเทศ กุญแจสำคัญจึงอยู่ที่การทำให้ชุมชนท้องถิ่นแข็งแรง ที่ไม่เพียงแต่เป็น “ชุมชนที่น่าอยู่” (Liveable Community) แต่ต้องเป็น “ชุมชนที่มีชีวิต” (Lively Community) สร้างการมีส่วมร่วมของคนในชุมชน ที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญา เพื่อการดำเนินชีวิต ควบคู่ไปกับองค์ความรู้เพื่อการดำรงชีพ ที่มีความเอื้ออาทร และแบ่งปัน สร้างวัฒนธรรมระดับชุมชน” ดร.สุวิทย์ กล่าว
เสริมด้วย ดร.นิสา รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. ที่กล่าวว่า ความท้าทายของการใช้พื้นที่เป็นฐาน คือ ความแตกต่างของบริบทพื้นที่ ซึ่งต้องอาศัยการสร้างความเข้าใจ และการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง และกลไกทำงาน ให้เกิดห่วงโซ่ผลลัพธ์ในการกำหนดมาตรการสุขภาพ ทั้งด้านวิถีชีวิต และพฤติกรรม ด้านสภาพแวดล้อมทางสังคม และกายภาพ แผนสุขภาวะชุมชน ขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่น ผ่านทุนทางสังคม ศักยภาพของพื้นที่ สถานการณ์ และปัญหาของพื้นที่ ด้วยแนวทาง 1. เสริมความเข้มแข็งระบบการจัดการ พัฒนาพื้นที่ ศูนย์เรียนรู้ รูปแบบ การทำงาน ที่มีความหลากหลาย 2. ขับเคลื่อนความร่วมมือกับภาคียุทธศาสตร์ และสถาบันวิชาการ พัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงาน หรือกลไกในรูปแบบต่าง ๆ 3. ขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน และบูรณาการ สานพลังและบูรณาการงานของ สสส. อาทิ เหล้า-บุหรี่ ผู้สูงอายุ ความมั่นคงทางอาหาร สิ่งแวดล้อม
รับมือทุกวิกฤต ด้วยสุขภาวะชุมชน
“มีความเชื่อมั่นว่าการสานพลัง สร้างนวัตกรรม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากองค์ความรู้ และประสบการณ์ของเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพกว่า 5,000 คน จะนำไปสู่การสร้างสุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืนได้”
คำกล่าวตอนหนึ่งในปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน” จาก นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คนที่ 1 ในฐานะประธานในพิธีปิด ระบุว่า จากการที่ประเทศไทยเผชิญกับสถานการณ์เร่งด่วนที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี การสื่อสาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากภาวะโลกเดือด อุตสาหกรรมปล่อยมลพิษทางอากาศ ความปลอดภัยทางอาหาร นำไปสู่สาเหตุของโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหลอดเลือดสมอง ปัญหาอนามัยการเจริญพันธุ์ หรือปัญหาสุขภาพจิต
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาหนี้สินครัวเรือน การว่างงาน เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่น ซึ่งแต่ละพื้นที่มีความซับซ้อน การแก้ปัญหาของแต่ละชุมชน จึงแตกต่างกันไป ที่ผ่านมาได้มอบนโยบายการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น การใช้สมุนไพรเป็นทางเลือกรักษาโรค การออกกำลังกายให้เหมาะสมกับบริบทและการใช้ชีวิต อาหารปลอดภัย การบำบัดยาเสพติดในชุมชน การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ และการจัดการบุหรี่ไฟฟ้า การแก้ปัญหาความยากจน ผ่านโครงการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สร้างเสริมสุขภาพในพื้นที่อื่น ๆ
“การมีสุขภาวะชุมชนที่ดี คือ การอยู่ดี มีอาชีพ มีรายได้ มีความรอบรู้ในการดูแลสุขภาพตัวเอง สสส. จึงกำหนดให้แผนสุขภาวะชุมชนเป็น 1 ใน 15 แผนหลัก ที่มีเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ซึ่งประกอบด้วย 4 องค์กรหลัก ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ท้องที่ (กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน) องค์กรชุมชน และหน่วยงานรัฐในพื้นที่ จำนวน 3,618 ตำบลทั่วประเทศ รวมทั้งสถาบันวิชาการ องค์กรภาคเอกชน ศูนย์สนับสนุนวิชาการของแผนสุขภาวะชุมชน เน้นสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน โดยมีเป้าหมายให้ชุมชนท้องถิ่น มีความเข้มแข็งในการจัดการตนเอง ลดความเหลื่อมล้ำ สามารถรับมือกับวิกฤต ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตได้”
ประกาศปฏิญญาเดินหน้าร่วมแก้ปัญหาประเทศ
อีกหนึ่งพลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และภารกิจไปสู่เป้าหมายความสำเร็จ นั่นคือการแสดงจุดยืน “พลังแห่งความร่วมมือ” ซึ่งกิจกรรมไฮไลท์ก่อนปิดฉากการจัดงานในปีนี้ เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ 5,725 คน จากเครือข่าย 530 แห่งทั่วประเทศ ยังได้ร่วมกันประกาศปฏิญญาเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เพื่อให้เกิดการสานพลังบูรณาการทั้งภายในองค์กร และเครือข่ายมากยิ่งขึ้น
นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ กล่าวว่า ปฏิญญาดังกล่าวจะเป็นพลังที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง และน้อมนำศาสตร์ของพระราชา “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” “ระเบิดจากข้างใน” “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นเครื่องมือการทำงาน ครอบคลุม 7 ประเด็น 21 เป้าหมาย ได้แก่ 1. ส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุครบวงจร 2. ส่งเสริมสุขภาพจิตและดูแลผู้ป่วยจิตเวช 3. ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน และเฝ้าระวังแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน 4. ส่งเสริมระบบอาหารชุมชน 5. รับมือภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 6. ลดการสูบบุหรี่ 7. เสริมศักยภาพเด็กและเยาวชนโดยชุมชนท้องถิ่น เพื่อผลักดันให้เกิดการสนับสนุน และสานพลังของชุมชนท้องถิ่น สู่การพัฒนาในทุกระดับเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของประเทศ
หัวใจสำคัญที่สร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นนั้น มีพื้นฐานสำคัญจากความพร้อมรู้รับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ และมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี ไปจนถึงสามารถจัดการพื้นที่ พัฒนานวัตกรรมชุมชน และเกิดการบูรณาการภายในชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน