เดินหน้าลด ‘เชื้อเอดส์’ ให้เป็นศูนย์
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขประกาศ Countdown To Zero "Elimination Mother to Child HIV Transmission" มุ่งหวังไม่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ตั้งเป้าหมายภายใน พ.ศ. 2559 จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง 2 ใน 3 จากที่คาดประมาณ และไม่มีเด็กที่ติดเชื้อจากแม่และตายเนื่องจากเอดส์ลดลงมากกว่าร้อยละ 75
ดร.น.พ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากนโยบายและยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ปัญหาเอดส์แห่งชาติปี 2555-2559 มีเป้าหมายและวิสัยทัศน์ของยุทธศาสตร์ที่เป็นไปในแนวเดียวกับยุทธศาสตร์ของ UNAID คือ สู่เป้าหมายที่เป็นศูนย์ (Getting to Zero)
โดยตัวที่หนึ่งไม่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ตั้งเป้าหมายภายใน พ.ศ. 2559 จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง 2 ใน 3 จากที่คาดประมาณ และไม่มีเด็กที่ติดเชื้อจากแม่และตายเนื่องจากเอดส์ลดลงมากกว่าร้อยละ75
ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศนโยบายการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก ประกอบด้วย 1) สถานบริการสาธารณสุขทุกเครือข่ายควรจัดให้มีการบริการปรึกษาทั้งก่อนและหลังการตรวจหาเอชไอวีอย่างมีคุณภาพ ควรให้คำปรึกษาแบบคู่และเก็บผลการตรวจเป็นความลับอย่างเคร่งครัดโดยแจ้งให้ทราบเฉพาะบุคคลและผู้ที่ได้รับการตรวจหาเชื้อเอชไอวีอนุญาตเท่านั้น 2) หญิงตั้งครรภ์ทุกคนและสามีหรือคู่ครองจะได้รับการปรึกษาแบบคู่และตรวจหาเชื้อเอชไอวีด้วยความสมัครใจ หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีจะได้รับการตรวจเซลล์ CD4 และได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสที่มีฤทธิ์สูงหรือรักษาด้วยยาต้านไวรัสอื่นๆตาม แนวทางของกระทรวงสาธารณสุข
และ 3) เด็กที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อเอชไอวีจะได้รับ ยาต้านไวรัส เมื่อแรกเกิดจะได้รับนมผสมสำหรับเลี้ยงเด็กทารก และได้รับการตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข และ 4) แม่ ลูก และสามีหรือคู่ครองที่ติดเชื้อ เอชไอวีจะได้รับยาต้านไวรัสตามสภาพของการติดเชื้อ การส่งเสริมสุขภาพ และติดตามการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง
ดร.น.พ.พรเทพ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันมีการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ในประเทศไทยประมาณ ร้อยละ 30-40 มาจากคู่สามีภรรยาที่มีผลเลือดต่างกัน โดยในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์แต่ละปีมีจำนวนประมาณ 800,000 ราย ซึ่งมากกว่าร้อยละ 95 มารับบริการฝากครรภ์ที่สถานบริการ
จากรายงานผลการดำเนินงานของกรมอนามัย ปี 2556 พบว่า หญิงตั้งครรภ์ได้รับการปรึกษาตัดสินใจตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวี ร้อยละ 99.7 ถึงแม้ว่าอัตราการให้การปรึกษาเพื่อตรวจเลือดเอชไอวี ด้วยความสมัครใจในหญิงตั้งครรภ์สูง แต่พบว่าโรงพยาบาลยังคงเน้นให้บริการเฉพาะหญิงตั้งครรภ์เป็นหลัก ขาดความตระหนักและความพร้อมในการจัดบริการให้เอื้อต่อการเข้าถึงบริการให้การปรึกษากับคู่สามีของหญิงตั้งครรภ์ ส่งผลให้พลาดโอกาสในการพูดคุยประเมินพฤติกรรมเสี่ยงระหว่างคู่และการส่งเสริมให้สามีมีส่วนร่วมในการดูแลภรรยาขณะตั้งครรภ์
"กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัยได้ดำเนินงานป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก โดยสนับสนุนให้สถานบริการสาธารณสุขดำเนินการให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และมีการพัฒนาเครื่องมือเทคโนโลยีการให้คำปรึกษาแบบคู่เพื่อตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีของหญิงตั้งครรภ์และสามี ด้วยระบบโปรแกรม PHIMS ซึ่งเป็นระบบกำกับติดตามการดำเนินงาน
โดยในปี 2556 มีสถานบริการที่ให้บริการปรึกษาแบบคู่ คิดเป็นร้อยละ 42 หญิงคลอดที่ได้รับการตรวจเลือด เอชไอวี ร้อยละ 99.20 และมีผลเลือดเอชไอวีบวก ร้อยละ 0.61 เด็กได้รับยาต้านไวรัสร้อยละ 99 เด็กได้รับนมผสมก่อนออกจากโรงพยาบาลร้อยละ 77
สำหรับในกรณีหญิงตั้งครรภ์มีผลเลือดเอชไอวีบวกจะได้รับยาต้านไวรัสเพื่อลดการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีจะได้รับยาต้านไวรัสหลังคลอดทันที และจะได้รับนมผสมทดแทนนมแม่เป็นเวลา12-18 เดือน โดยแม่และลูกหลัง คลอดจะได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องสำหรับหญิงตั้งครรภ์และคู่สามีที่มีผลเลือดเอชไอวีลบ จะได้รับการปรึกษาเพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงให้คงผลเลือดลบต่อไป" อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
ที่มา : หนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต